สหรัฐ 15 ก.พ.- การทดลองผ่าตัดฝังอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าหวังชะลอความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์ เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
แม้จะมีอาการของโรคอัลไซเมอร์ หรือ ภาวะสมองเสื่อม แต่ทุกวันนี้ ลา วอนเน่ มัวร์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นคน หนึ่งที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็ยังสามารถเล่นเปียโนที่ต้องใช้ทักษะหลายอย่างได้ นั่นเป็นเพราะเมื่อปี 2557 มัวร์ เข้ารับการทดลองผ่าตัดชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ด้วยการฝังอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าที่บริเวณเนื้อเยื่อสมองส่วนหน้า ซึ่งคณะแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอระบุว่า อุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในสมองส่วนหน้า จะทำหน้าที่กระตุ้นเนื้อเยื่อสมองโดยรอบเหมือนกับการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ นอกจากการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแล้ว การผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้ายังได้ผลในการรักษาโรคทางสมอง อย่าง พาร์กินสัน เนื่องจากช่วยบรรเทาอาการสั่นของผู้ป่วย
ทอม สามีของมัวร์บอกว่า หลังผ่าตัดมา 4 ปี ทุกวันนี้ อาการของภรรยาของเขาอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ขณะที่ ดร.ดักลาส หัวหน้าโครงการวิจัยและทดลองรักษาโรคอัลไซเมอร์ด้วยการผ่าตัดฝังอุปกรณ์ไฟฟ้ากระตุ้นสมองอธิบายว่า การรักษาด้วยวิธีการนี้ ยังต้องใช้เวลาทดลองและศึกษาค้นคว้าอีกมากและในวงกว้าง เพราะถึงขณะนี้ มีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทดลองเข้ารับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เพียง 3 คนเท่านั้น สอดคล้องกับดร. แคลร์ วัลตัน จากสมาคมโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งยืนยันว่า การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องได้รับการทดสอบกับผู้ป่วยอีกมาก
นอกจากนี้ นักวิจัยกำลังเร่งค้นคว้าทดลองหาวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซึ่งอาจมีความปลอดภัยและได้ผลมากกว่า.-สำนักข่าวไทย