ภูมิภาค 19 ม.ค. – หลังฝนหยุดตกแล้ว หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเรื่องปริมาณน้ำในเขื่อนว่าจะเพียงพอในช่วงฤดูแล้งหรือไม่ ชลประทานยืนยันว่าสถานการณ์เจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์ปกติของช่วงฤดูแล้ง
นายเนรมิต เทพนอก ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 12 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่าการจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 เป็นไปตามแผนที่วางไว้ มีการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูก จำนวน 5.1 ล้านไร่ ขณะที่การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในปริมาณ 90 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็นเกณฑ์ปกติของการระบายน้ำท้ายเขื่อนในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนที่ปล่อยมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มายังเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังปกติไม่มีภัยแล้ง
สำหรับปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลัก ณ วันนี้ (19 ม.ค.) มีปริมาณรวมกัน 12,608 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 6,467 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 4,714 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 708 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 719 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยารักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.00 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ระบายน้ำท้ายเขื่อน 90 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อน อยู่ที่ 6.01 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง)
ส่วนกรณีที่ระดับน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง ช่วงสะพานข้ามวัดไชโยวรวิหาร ลดระดับจนเห็นสันดอนทรายหลายจุด จนวิตกกังวลว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนภัยแล้งปีนี้จะมาเร็วกว่าทุกปี ทางด้านนายทนงศักดิ์ มูลเมือง หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานจังหวัดอ่างทอง ชี้แจงว่า เป็นเรื่องปกติของสภาพลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลำน้ำใหญ่และมีร่องน้ำไหลที่มีระดับสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการเปิดระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ตรงไหนตื้นก็จะพบตะกอนทรายไปสะสม จึงไม่น่าวิตกกังวลในเรื่องของน้ำในภาคเกษตรกร ซึ่งยืนยันว่าตอนนี้น้ำต้นทุนมีมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า ประมาณร้อยละ 70-80 ถ้าอยู่ในแผนที่วางไว้จะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน ปริมาณน้ำน่าจะพอเพียงกับแผนการเพาะปลูกที่วางไว้ในจังหวัดอ่างทอง 241,000 ไร่.-สำนักข่าวไทย