พม.16 พ.ย.-พม.ร่วมกับเครือข่าย จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและคนในครอบครัว เนื่องในเดือน พ.ย.เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ขณะที่ผลสำรวจพบปี 60 ความรุนแรงด้านจิตใจด้วยวาจาจากคนในครอบครัว พุ่งสูงถึงร้อยละ 33
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และคนในครอบครัว ประจำปี 2560 มีคณะแพทย์จาก รพ.รามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมทั้ง น.ส.ฉัตรฑิรา มิชชาส์Miss Tourism Queen Thailand 2017 ในฐานะทูต วัฒนธรรมและสิทธิสตรีประจำภาคตะวันออก และ น.ส.วิชิดา น่วมสอน รองอันดับ 3 ทูตวัฒนธรรมและสิทธิสตรีประจำภาคกลาง ร่วมเดินขบวนรณรงค์ ปีนี้ใช้แนวคิดสร้างครอบครัวไร้ความรุนแรงด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์ ตามคำขวัญ “หยุด!คำร้ายทำลายครอบครัว”
รมว.พม.กล่าวว่า ครม.มีมติเมื่อ 29 มิ.ย.2542 เห็นชอบให้เดือน พ.ย.ของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 โดยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นำ “ริบบิ้นขาว”แสดงออกถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำรุนแรงต่อสตรี” เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สค. ทำแบบสำรวจ 10 คำร้ายทำลายครอบครัว ได้แก่ ไปตายซะ ร้อยละ 20.4 ,เลว ร้อยละ 19 , แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย ร้อยละ 16.5 , ไอ้ตัวปัญหา/ตัวซวย ร้อยละ 14.8 ฯลฯ
ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงจากคนในครอบครัวจำนวน749 เหตุการณ์ ความรุนแรงด้านร่างกายยังพุ่งสูง ร้อยละ 55 , วาจาด่าทอ/ดูถูก ร้อยละ 19 , ขู่บังคับ ร้อยละ 13
นอกจากนี้ผลสำรวจจากผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 2,280 ครัวเรือน โดยศูนย์จัดการความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2560 เกิดจากการทำความรุนแรงด้านจิตใจด้วยการด่าทอขู่ บังคับ ทำให้อับอาย พุ่งสูง ขึ้น จากปีก่อนถึงร้อยละ 33 ส่วนความรุนแรงด้านร่างกายและทางเพศ ร้อยละ 9 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวต้องอาศัยการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนและสำคัญที่สุดคือสถาบันครอบครัวที่เป็นจุดเริ่มต้นในการยุติความรุนแรงได้ผลที่สุด .-สำนักข่าวไทย