ถนนสุโขทัย 14 พ.ย.- นายกฯ รับข้อเสนอ กพร.ผุด โรงเรียนนิติบุคคล สร้างนำร่อง 77 เเห่งทั่วประเทศ ศธ.เตรียมประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ พิจารณาเอกชนร่วมบริหารโรงเรียน เริ่มปีการศึกษา 61
นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานคณะกรรรมพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณารูปแบบโรงเรียนของรัฐในอนาคต ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนนิติบุคคล(Public School) หรือการให้อิสระโรงเรียนบริหารจัดการร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบนิติบุคคล โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบริหารโดยรัฐยังคงเป็นเจ้าของ และมีการประเมินเป็นระยะ ปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวกับงบประมาณ การบริหารงานบุคคลให้มีความคล่องตัว แต่โรงเรียนต้องมีความรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก โดยจะเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2561 นำร่องจังหวัดละ 1 โรงเรียน รวม 77 เเห่ง ว่า เเนวคิดสำคัญของ Public School คือโรงเรียนสำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็ก ดังนั้น โรงเรียนจึงต้องมีอิสระ ในการบริหารจัดการเเละดูเเลเด็กตามความถนัด เหมาะสมกับพื้นที่เเละตอบสนองความต้องการของประเทศ คณะกรรมการอิสระฯโดยคณะอนุกรรมการการเรียนการสอน เสนอว่าโรงเรียนนิติบุคคลจะต้องจัดการศึกษาให้มีมาตรฐานเเละสูงกว่ามาตรฐาน ทั้งโรงเรียนจะยังอยู่ภายใต้การกำกับดูเเลควบคู่กับการมีความอิสระในการดูเเลตัวเองอย่างสมดุล โดยคณะกรรมการอิสระจะมีหน้าที่รับผิดชอบกรอบใหญ่ในการคัดเลือกโรงเรียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรูปแบบที่ชัดเจน
ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยว่า ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อร่วมหารือกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก รร.ที่เหมาะสมเเละต้องเชื่อมโยงกับข้อเสนอเเละเป็นไปตามกรอบของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยเบื้องต้นจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีปัญหาในการจัดการศึกษาหรือโรงเรียนด้อยโอกาสก่อน ซึ่งภาคเอกชนจะเป็นผู้คัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าไปสนับสนุน เเละเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการพิจารณาต่อไป
สำหรับ รร.นิติบุคคล 1 ในรูปแบบของ รร.ที่เป็นไปตามรัฐธรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการจัดการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตและจัดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาค เอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการกำกับและส่งเสริมให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและได้มาตรฐานการศึกษาสากล ดังนั้น จากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ศธ.จะต้องดำเนินการแก้ไขกฎ ระเบียบเพื่อรองรับการดำเนินการ รวมทั้งออกแบบระบบรองรับการบริหารงานบุคคล การจัดสรรงบประมาณ หลักสูตร การประเมินผลสัมฤทธิ์ การประกันคุณภาพ และการบริหารทรัพย์สิน
สำหรับภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโรงเรียนนิติบุคคล มีแนวทางจะเสนอคณะรัฐมนตรี ขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินสามารถนำไปลดหย่อนภาษี
จาก 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละ10 ของกำไรสุทธิ จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ให้มีระยะเวลาเพิ่มขึ้น .-สำนักข่าวไทย