กรุงเทพฯ 23 พ.ย.-กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากโซลาร์เซลล์ แบบครบวงจร ได้เป็นครั้งแรกของไทย พร้อมเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตาม BCG Model หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ของรัฐบาล โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. ภายใต้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างต้นแบบด้านนวัตกรรมวัตถุดิบที่ยั่งยืน
ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดีที่ กพร. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงโซล่าเซลล์ได้อย่างครบวงจร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแต่งแร่และโลหการที่มีความเชี่ยวชาญ ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เศษกระจก โลหะผสมซิลิกอน เงินบริสุทธิ์ ทองแดงบริสุทธิ์ อะลูมิเนียม และผงเงิน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย
“แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งกันอย่างแพร่หลายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเริ่มชำรุดหรือหมดอายุและหมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า โดยภายในระยะ 5 ปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากหลักพันตันต่อปีเป็นหลักหมื่นตันต่อปี หากมีกระบวนการจัดการและเทคโนโลยีการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นวัตถุดิบทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ และยังเป็นการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย” นายกอบชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย