กรุงเทพฯ 24 ก.พ.-กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แจงผลตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำขุมน้ำท่าแตง เหมืองเก่าในจังหวัดพังงา อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หลังเกิดประเด็นถกเถียงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ หลังปรากฏภาพกลุ่มนักดำน้ำพากันมาดำน้ำบริเวณขุมน้ำท่าแตง ซึ่งในอดีตเคยเป็นเหมืองเก่า จึงเกิดประเด็นถกเถียงถึงความปลอดภัยจากสารปนเปื้อนนั้น กพร. ชี้แจงว่า แหล่งน้ำดังกล่าวเป็นขุมเหมืองเก่าที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ดีบุกเมื่อ 25 ปีก่อน ตั้งอยู่ที่ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เนื้อที่ประมาณ 104 ไร่ ความลึกประมาณ 30 เมตร มีปริมาณน้ำประมาณ 1,666,000 ลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ จากการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำในขุมเหมือง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำผิวดิน ประเภทที่ 3 ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรหรืออุปโภคบริโภคได้ โดยต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคและปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน ซึ่งปัจจุบันมีการนำน้ำจากขุมน้ำท่าแตงไปใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งการใช้เป็นน้ำดิบในระบบประปาของชุมชน การสูบน้ำไปใช้ในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ บริเวณขุมน้ำดังกล่าวยังเป็นสถานที่พักผ่อนและสันทนาการของเหล่านักท่องเที่ยวอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กพร.ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำขุมเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยสำรวจตำแหน่งที่ตั้ง ประเมินปริมาณน้ำและศักยภาพในการกักเก็บน้ำขุมเหมืองด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ และเทคโนโลยีสำรวจความลึกใต้น้ำสำหรับการรังวัด จัดทำแผนที่ภูมิประเทศขุมเหมือง วิเคราะห์คุณภาพน้ำ สอบถามความต้องการใช้น้ำของชุมชนใกล้เคียง และประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งออกแบบระบบสูบน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาน้ำจากขุมเหมืองไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบาย ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ ของ กพร. โดยปัจจุบันมีขุมเหมืองไม่น้อยกว่า 250 บ่อ รวมปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 218 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขุมน้ำท่าแตงเป็นขุมเหมืองที่อยู่ภายใต้โครงการดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย