ชัวร์ก่อนแชร์ Motor Check : ยาห้ามใช้ก่อนขับรถ จริงหรือ ?

บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ว่า ยาบางชนิด ห้ามใช้ก่อนขับขี่รถยนต์ เพราะอาจทำให้เกิดการง่วงซึม และเป็นอันตรายในขณะขับรถได้ เรื่องนี้จริงหรือไม่ ?


🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ ภาควิชาอาหารและเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มียาหลายชนิดไม่ควรกินถ้าจะต้องขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร รวมถึงคนที่ทำงานอยู่บนที่สูง จะทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดภาวะง่วงซึมได้ มีทั้งง่วงมากและง่วงน้อย


ภาวะ “ง่วงซึม” ที่เกิดจากการกินยาเรียกว่า “ผลข้างเคียงจากยา” (side effect) ซึ่งรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

ยาชนิดที่ 1 “ยาแก้ปวด” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาแก้ปวดทุกชนิดไม่ได้มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง


ตัวอย่างยาแก้ปวดที่กินแล้วไม่มีภาวะง่วงซึม ได้แก่

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ที่ทางการแพทย์เรียกว่า “อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen)

2. ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs : non-steroidal antiinflammatory drugs) เป็นยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาไดโคลฟีแนก (Diclofenac)

มียาแก้ปวดบางชนิดที่กินแล้วไม่ควรขับรถ ได้แก่

1. ยาทรามาดอล (Tramadol) เป็นยาระงับปวด กลุ่มโอพิออยด์ (Opioids) ใช้รักษาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ยาชนิดนี้จัดเป็นยาอันตรายและเป็นยาที่จ่ายได้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยตัวยาจะออกฤทธิ์สั่งการสมองและระบบประสาท

2. กาบาเพนทิน (Gabapentin) เป็นยารักษาอาการชัก ปลายประสาทอักเสบจากโรคงูสวัด และกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) โดยตัวยาจะเข้าไปจับกับตัวรับที่อยู่ในสารสื่อประสาท ทำให้อาการชักค่อย ๆ ทุเลาลง ยานี้ต้องใช้ภายใต้คำสั่งและดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

ยาชนิดที่ 2 “ยาคลายกล้ามเนื้อ” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxant) ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วง เพราะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง มี 3 ชนิดหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blocking Agents)จะออกฤทธิ์กับตัวรับอะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ไปกีดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ

2. ยาคลายกล้ามเนื้อสูตรผสม (Skeletal Muscle Relaxant Combinations) ซึ่งมีส่วนผสมของยาคลายกล้ามเนื้อและยาแก้ปวดรวมกันอยู่ในเม็ดเดียว ยาจะช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อลาย ทำให้กล้ามเนื้อที่หดคลายตัวลง มักใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดตัว หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

3. ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Skeletal Muscle Relaxants) เป็นยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทสมองและไขสันหลัง ซึ่งจะลดและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อจนเกิดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัวจากการรับสารสื่อประสาท

ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นยาที่ต้องจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น สามารถช่วยลดปวดในระดับที่มีความรุนแรงน้อยถึงปานกลางที่เกิดจากการตึงตัวของกล้ามเนื้อ แต่ไม่สามารถลดปวดที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้ โดยมากมักใช้ในอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรหยุดใช้ยาทันที และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ

ยาชนิดที่ 3 “ยาคลายกังวล” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาคลายกังวล (Antianxiety Drugs) หรือยาคลายเครียด เป็นยาที่มีผลต่อระบบประสาท

ส่วนใหญ่ยาคลายกังวลใช้รักษาอาการวิตกกังวล ตื่นตระหนก การตอบสนองของร่างกายที่มากเกินไป หรือนอนไม่หลับจากโรควิตกกังวลต่าง ๆ โรคแพนิก (Panic Disorder) ภาวะวิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) หรือโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepine) โดยผู้ป่วยอาจรับยาร่วมกันหลายชนิด เช่น ยาที่มีผลต่อสารสื่อประสาทอย่างยาต้านเศร้าในกลุ่ม SSRI หรือ SNRI และกลุ่มยาที่ช่วยบรรเทาอาการทางร่างกายจากความวิตกกังวล โดยไม่ได้ส่งผลต่อระบบประสาทหรือสารสื่อประสาท อย่างยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ (Beta-Blocker)

การใช้ยาคลายกังวลแต่ละกลุ่มอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่คล้ายกัน เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ท้องไส้ปั่นป่วน หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

ยาชนิดที่ 4 “ยากล่อมประสาท” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง ได้แก่

1. ยานอนหลับ แพทย์จ่ายให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับจากความเครียด เป็นยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepine) ที่จัดเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาภาวะวิตกกังวล อาการชัก และโรคนอนไม่หลับ เช่น ยาลอราซีแพม (Lorazepam) ยาไดอะซีแพม (Diazepam) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) และยาไทรอาโซแลม (Triazolam)

2. ยาต้านเศร้ากลุ่มไทรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants : TCAs) แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ อย่างโรคซึมเศร้า เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)

3. ยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ (Beta-Blockers) เป็นยาที่ใช้รักษา ควบคุมภาวะความดันเลือดสูง และโรคหัวใจ แต่บางครั้งแพทย์อาจสั่งจ่ายยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์เพื่อใช้เป็นยาคลายเครียด เพราะยากลุ่มบีตาบล็อกเกอร์ออกฤทธิ์ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งบรรเทาอาการทางร่างกายที่เกิดจากความเครียด เช่น หัวใจเต้นเร็ว เสียงสั่น ตัวสั่น และเหงื่อออก เช่น ยาอะทีโนลอล (Atenolol) ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) และยาไบโซโพรลอล (Bisoprolol)

ยา 3 กลุ่มนี้สามารถใช้เป็นยาคลายเครียดและให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน แต่กลไกการออกฤทธิ์ วิธีใช้ และข้อจำกัดของยานั้นแตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้ยาใดยาหนึ่งเพื่อทดแทนยาอีกชนิดได้ เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

สิ่งสำคัญ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อหรือหายาคลายเครียดมาใช้เอง ทั้งจากการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์และการขอยาจากผู้ป่วยคนอื่น

ยาชนิดที่ 5 “ยาแก้เวียนศีรษะ” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ยาแก้เวียนศีรษะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงนอน ง่วงซึม น้ำหนักตัวมากขึ้น คลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย

ชื่อสามัญของยาแก้เวียนศีรษะ คือ ฟลูนาริซีน (flunarizine) มีชื่อทางการค้าที่หลากหลาย เช่น Sibelium, Fludan, Fluricin, Poli-flunarin, Liberal, Simoyiam, Sobelin, Vanid, Vertilium เป็นต้น

ข้อบ่งใช้ยาเหล่านี้คือรักษาอาการวิงเวียน (vertigo) และป้องกันไมเกรน ตัวยาดังกล่าวสามารถเข้าไปในสมองและออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดในสมอง และปรับระดับสารสื่อประสาทบางชนิดในสมองทำให้ป้องกันไมเกรนและลดอาการวิงเวียนศีรษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาชนิดที่ 6 “ยาแก้เมารถ” ห้ามกินก่อนขับรถ จริงหรือ ?

มีคนจำนวนมากเวลาเดินทางไปไหนมาไหน (ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ) เคยมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ที่เรียกอาการเหล่านี้ว่า “เมาจากการเคลื่อนไหว” (motion sickness) ซึ่งสามารถเกิดกับการโดยสารยานพาหนะได้ทุกประเภท

อาการเมาจากการเคลื่อนไหวไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน ในบางคนมีปัจจัยเสี่ยงอาจทำให้มีอาการได้มากกว่าผู้อื่น ได้แก่ เด็กอายุระหว่าง 2-12 ปี ผู้หญิงตั้งครรภ์ ใช้ยาคุมกำเนิดและกำลังมีประจำเดือน มีประวัติเป็นไมเกรนหรือเป็นโรคพาร์กินสัน มีสมาชิกในครอบครัวที่มีประวัติเมาจากการเคลื่อนไหว

วิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันไม่ให้เกิดอาการก็คือ “กินยาป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว” หรือ “ยาแก้เมารถ” แบ่งตามการออกฤทธิ์ มี 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มยาแก้แพ้ หรือกลุ่มยาต้านฮิสทามีน (antihistamine) จะออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับฮิสทามีนและต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ยาในกลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการง่วงซึม ได้แก่ ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) ยาไซคลิซีน (Cyclizine) ยาเมคลิซีน (Meclizine)

2. กลุ่มยาต้านการออกฤทธิ์ของสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีน ได้แก่ สโคโพลามีน (Scopolamine) ยาไดเฟนิดอล (Diphenidol)

ยา “ป้องกันอาการเมาจากการเคลื่อนไหว” มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการง่วงซึมทั้งหมด

โดยทั่วไปคนขับรถมักจะไม่มีอาการเมาจากการเคลื่อนไหว แต่คนที่มีอาการเมาจากการเคลื่อนไหวก็จะไม่ขับรถอยู่แล้ว

มียากลุ่มอื่น ๆ ที่ห้ามใช้ก่อนขับรถเช่นกัน ได้แก่ ยาสูตรผสมแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ ยาสูตรผสมแก้ไข้ แก้หวัด เพราะมีการใส่ยาแก้แพ้ด้วย

นอกจากนี้ ยาแก้ไอ และยาชนิดอื่น ๆ ที่เคยกินแล้วมีอาการง่วง ปัจจุบันก็ไม่ควรกินก่อนขับรถเช่นกัน เพราะสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ

ดังนั้น ก่อนใช้ยาทุกครั้ง จะต้องอ่านฉลากยา (เอกสารกำกับยา) อย่างละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้ยาอย่างปลอดภัยกับตนเอง และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับผู้อื่นด้วย

สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ Motor Check : ยาห้ามใช้ก่อนขับรถ จริงหรือ ?

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ผบช.น.ยอมรับการอบรมอาสาตำรวจให้คนจีนมีจริง-ตร.แค่เป็นวิทยากร

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยอมรับการอบรมอาสาตำรวจให้กับคนจีนมีจริง แต่เจ้าของโครงการ ไม่ใช่ตำรวจนครบาล 3 เพียงแต่ถูกเชิญไปเป็นวิทยากรเท่านั้น ส่วนเจ้าของโครงการ เป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านฝั่งธนบุรี

ชายวัย 53 เมาคว้าปืนลูกซองยิงเพื่อนบ้านวัย 60 ดับ ฉุนฉลองปีใหม่

ชายวัย 53 ปี อารมณ์ร้อน คว้าปืนลูกซองยิงชายวัย 60 ปี เสียชีวิต ฉุนนั่งย่างเนื้อให้ลูกๆ ที่กลับมาเยี่ยมบ้านฉลองปีใหม่

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ

นึกว่าแจกฟรี ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น เมืองเชียงใหม่

เอาใจสายเนื้อ ขึ้นเหนือไปกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ย่านถนนราชดำเนิน กลางเมืองเชียงใหม่ ขายดิบขายดี นึกว่าแจกฟรี ลูกค้าต่อแถวยาวเหยียด

ข่าวแนะนำ

กต.เผยเมียนมาปล่อยตัวนักโทษไทย 152 คน-ไม่มี 4 ลูกเรือประมงไทย

กระทรวงการต่างประเทศ เผยเมียนมาปล่อยตัวนักโทษชาวไทย 152 คน แต่ยังไม่มี 4 ลูกเรือประมง ยืนยันพยายามอย่างเต็มที่

นายหน้าลอยแพ 250 แรงงานไทย ไร้ตั๋วบินทำงานต่างประเทศ

ฝันสลาย แรงงานไทย 250 ชีวิต เหมารถมาสนามบินเก้อ หวังได้ไปทำงานในต่างประเทศ สุดท้ายไม่มีตั๋วบิน รวมตัวแจ้งความตำรวจ หวั่นถูกหลอกสูญเงินกว่า 12 ล้านบาท

ตร.-ผอ.รพ.แจงวิสามัญผู้ป่วยคลั่ง ทำตามยุทธวิธี

ตำรวจ-รพ. แถลงเหตุวิสามัญผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ คลั่งกลาง รพ.สุรินทร์ ตำรวจแจงทำตามยุทธวิธี แต่ผู้ป่วยมีอาการคลั่ง ไม่สงบ จึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงเพื่อระงับเหตุ ด้าน รพ. เผยเหตุดังกล่าวเกือบเสียคนไข้อีกคน ส่วนกล้องวงจรปิด พบว่าใช้การไม่ได้ อยู่ระหว่างการเปลี่ยน

เพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกสำเร็จรูป อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร จนท.ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง จึงควบคุมเพลิงได้ คาดเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้าน