5 ม.ค. – กระทรวงการต่างประเทศ เผยเมียนมาปล่อยตัวนักโทษชาวไทย 152 คน แต่ยังไม่มี 4 ลูกเรือประมง ยืนยันพยายามอย่างเต็มที่
ตามที่เกิดเหตุการณ์ลูกเรือประมงไทย 4 คนถูกจับโดยกองทัพเรือเมียนมา และถูกตัดสินคดีต้องโทษจำคุก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันผลักดันกับทางการเมียนมา เพื่อขอให้มีการปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 คนโดยเร็วนั้น
จากการประกาศของทางการเมียนมาในเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องขัง และนักโทษต่างชาติ เมื่อวานนี้ (4 ม.ค. 68) รวมนักโทษชาวไทยจำนวน 152 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้มีการดำเนินการก่อนหน้านี้ ในการนี้กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณฝ่ายเมียนมา อย่างไรก็ดี ขอเรียนว่าในการประกาศครั้งนี้ยังไม่พบรายชื่อลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ที่ถูกจับกุมล่าสุดรวมอยู่ด้วย จึงเป็นที่ผิดหวังที่กระบวนการปล่อยตัวกลุ่มดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จในครั้งนี้ โดยฝ่ายเมียนมายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง
ในทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการอย่างเต็มที่มาโดยตลอดและจะดำเนินการต่อไป ซึ่งกระทรวงต่างประเทศเมียนมาให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ พยายามผลักดันให้มีการปล่อยตัวโดยเร็ว บนพื้นฐานของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเรื่องดังกล่าวมีคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ที่จะต้องหารือข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งรวมถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีกในอนาคต
ทั้งนี้ ในห้วงที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ผลักดันและติดตามกับทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมทั้งขอการเข้าถึงทางกงสุล (consular access) ในหลายช่องทาง ทั้งการโทรศัพท์พูดคุยกับลูกเรือทั้ง 4 คน เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบและให้กำลังใจ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับอนุญาตให้นำผู้แทนญาติของลูกเรือไทยเข้าเยี่ยมลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ที่จังหวัดเกาะสอง ภาคตะนาวศรี ซึ่งพบว่าลูกเรือไทยทั้ง 4 คน มีสุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจดี ได้รับการดูแลตามความเหมาะสม และได้รับอาหารครบ 3 มื้อ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำสิ่งของจำเป็นไปมอบให้แก่ลูกเรือทั้ง 4 คนด้วย รวมทั้งแจ้งกับลูกเรือเกี่ยวกับสถานะการดำเนินการล่าสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ในการผลักดันกับฝ่ายเมียนมา เพื่อนำไปสู่การปล่อยตัวโดยเร็ว
สุดท้ายนี้ขอเรียนว่ากรณีนี้มีความละเอียดอ่อนทั้งในแง่เรื่องการปล่อยตัวลูกเรือชาวไทย ประเด็นปัญหาการทำประมงของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งความสัมพันธ์ในภาพรวมของสองประเทศ ดังนั้น จึงต้องอาศัยความอดทนและช่องทางการเจรจาอย่างแนบเนียน โดยดำเนินการดังนี้
1.เร่งช่วยเหลือให้ลูกเรือได้รับการปล่อยตัว ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับกระบวนการภายในต่างๆ ของเมียนมาด้วย โดยกระทรวงการต่างประเทศจะผลักดันทางการทูตต่อไป 2.แก้ไขปัญหาผ่านกลไก TBC ร่วมกันกับฝ่ายเมียนมาต่อไป
ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและดำเนินการทุกอย่างในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ผ่านทุกช่องทางอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อให้คนไทยทั้ง 4 คนได้รับการปล่อยตัวต่อไป.-312-สำนักข่าวไทย