05 พฤศจิกายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
คดีแชร์ลูกโซ่ที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐฯ ได้แก่คดีที่ก่อโดย เบอร์นี เมดอฟฟ์ นักการเงินชาวอเมริกัน ผู้ใช้ชื่อเสียงในแวดวงตลาดหลักทรัพย์ ล่อล่วงให้ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ นำเงินมาลงทุนนานนับทศวรรษ ประเมินความเสียหายกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดเป็นประวัติการณ์
สาเหตุที่มีคนหลงเชื่อ เบอร์นี เมดอฟฟ์ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเขาคือผู้กว้างขวางในแวดวงตลาดหลักทรัพย์ในนิวยอร์ก เป็นผู้ริเริ่มการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นอดีตประธานของตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq 3 สมัย (1990 1991 1993)
เบอร์นี เมดอฟฟ์ ยังสร้างภาพผ่านกิจกรรมเพื่อการกุศล จนองค์กรไม่แสวงหากำไรหลายแห่งก็ตกเป็นเหยื่อของเขาจำนวนมาก ข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์กพบว่า 10% ของเงินที่เขาฉ้อโกงมาจากองค์กรไม่แสวงหากำไร
แผนแชร์ลูกโซ่ของเมดอฟฟ์
เบอร์นี เมดอฟฟ์ ซ่อนกิจการแชร์ลูกโซ่เอาไว้เป็นความลับในชั้นที่ 17 ของอาคาร Lipstick Building ที่ตั้งสำนักงาน Bernard L. Madoff Investment Securities LLC ของเขาเอง
ช่วงปี 2008 ก่อนที่แผนแชร์ลูกโซ่จะได้รับการเปิดโปง บริษัท Bernard L. Madoff Investment Securities LLC แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน
โดยชั้นที่ 19 ดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บริหารงานโดย มาร์ค และ แอนดรูว์ เมดอฟฟ์ ลูกชายทั้ง 2 คนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ โดย เบอร์นี เมดอฟฟ์ เป็นผู้ดูแล
ส่วนชั้นที่ 17 ดำเนินธุรกิจกองทุนบริหารความเสี่ยง ดำเนินการโดย เบอร์นี เมดอฟฟ์ และ ปีเตอร์ เมดอฟฟ์ น้องชายของเขา
โดยกิจกรรมในชั้นที่ 17 ถูกเก็บเป็นความลับอย่างแน่นหนา แม้แต่พนักงานในชั้นที่ 19 รวมถึงลูกชายทั้ง 2 คน ก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในชั้นที่ 17
เบอร์นี เมดอฟฟ์ ใช้วิธีหาเหยื่อด้วยการอ้างว่า กองทุนบริหารความเสี่ยงของเขาให้ผลตอบแทนมากกว่า 10-20% ต่อปี ตามผลประกอบการที่เกิดขึ้นกับดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหุ้นที่ใช้วัดประสิทธิภาพหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ 500 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ
พร้อมรับประกันความเสี่ยงด้วยมาตรการเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทใหญ่ และป้องกันเงินทุนด้วยกลยุทธ์ใช้สิทธิในการขายหุ้น (Put Options) ในกรณีหุ้นของบริษัทใดมีแนวโน้มอยู่ในช่วงตลาดขาลง
แต่แท้จริงแล้ว กองทุนบริหารความเสี่ยงดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ผลตอบแทนทั้งหมดมาจากการนำเงินทุนของเหยื่อรายใหม่ไปให้เหยื่อรายเก่า
ภาพลักษณ์ของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ซึ่งมักทำให้ผู้ลงทุนหลงเชื่อว่า การนำเงินมาลงทุนกับเขาเป็นโอกาสพิเศษที่หาได้ยาก เมื่อมีคนหวังจะถอนเงิน ก็จะได้รับคำขู่ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดเนื่องจากจะไม่มีโอกาสได้กลับมาลงทุนกับบริษัทของเขาอีก
ความผิดปกติในกองทุนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์
ผู้ที่พบความผิดปกติในกองทุนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ เป็นรายแรก ๆ ได้แก่ แฮร์รี มาโคโปลอส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชีนิติวิทยาศาสตร์และนักสอบสวนการฉ้อโกงทางการเงิน ที่ถูกร้องขอให้ถอนแบบการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระดับเดียวกับกองทุนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการลงทุนรูปแบบใด แฮร์รี มาโคโปลอส ก็ไม่สามารถอธิบายผลตอบแทนแบบเดียวกับที่กองทุนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ทำได้ จึงสรุปว่า เบอร์นี เมดอฟฟ์ ไม่ได้สร้างรายได้จากการลงทุน เงินทั้งหมดถ้าไม่ได้มาจากการทำ front Running หรือการสร้างกำไรจากซื้อขายหุ้นดักหน้าลูกค้า ก็ต้องมาจากแชร์ลูกโซ่ ซึ่งต่างก็ผิดกฎหมายการเงินทั้ง 2 วิธี
แต่ความพยายามเปิดโปงแผนแชร์ลูกโซ่ของ แฮร์รี มาโคโปลอส เมื่อปี 2000 ประสบความล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) เท่าที่ควร เนื่องจากการสอบสวนโดย SEC ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลับไม่พบความผิดปกติในกองทุนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ แต่อย่างใด
แผนแชร์ลูกโซ่ถูกทำลาย
เมื่อใดที่มีนักลงทุนถอนเงินจำนวนมาก เบอร์นี เมดอฟฟ์ จะพยายามแก้สถานการณ์ด้วยการหาเหยื่อรายใหม่มาลงทุนไปเรื่อย ๆ
จนกระทั่งการมาถึงของ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ปี 2008 หรือวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างรุนแรง มีนักลงทุนมาถอนเงินจาก เบอร์นี เมดอฟฟ์ มากกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่จริง จนสุดท้ายแผนแชร์ลูกโซ่ของเมดอฟฟ์ที่ดำเนินมากว่า 17 ปีก็ถูกเปิดโปงในที่สุด
เบอร์นี เมดอฟฟ์ ยอมเปิดเผยความจริงต่อ มาร์ค และ แอนดรูว์ เมดอฟฟ์ ในช่วงปลายปี 2008 ก่อนที่ลูกชายทั้ง 2 คน จะเป็นผู้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเอง
จากการประเมินพบว่า มีผู้เสียหายจากแผนแชร์ลูกโซ่ของเมดอฟฟ์ทั่วโลกหลายหมื่นราย คิดเป็นความเสียหายมูลค่าเกือบ 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาทในปี 2008 ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน
คดีแชร์ลูกโซ่ของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อผู้เสียหายมากมายต้องสูญเงินเก็บไปทั้งชีวิตในพริบตา มีเหยื่อไม่น้อยตัดสินใจฆ่าตัวตายจากการหลอกลวงครั้งนั้น
เบอร์นี เมดอฟฟ์ ในวัย 71 ปี ถูกตัดสินจำคุกในคดีฉ้อฉลทางการเงินเป็นเวลา 150 ปี ซึ่งเป็นบทลงโทษสูงสุด ห้ามยุ่งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ตลอดชีวิต และยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 170,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มรดกบาปของ เบอร์นี เมดอฟฟ์
แผนแชร์ลูกโซ่ที่ เบอร์นี เมดอฟฟ์ เก็บงำเป็นความลับจากสมาชิกในครอบครัวมานานปี กลับมาทำร้ายคนในครอบครัวของเขาทีละคน
ปีเตอร์ เมดอฟฟ์ น้องชายของเบอร์นี เมดอฟฟ์ ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
มาร์ค เมดอฟฟ์ ลูกชายคนโตของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ทำอัตวินิบาตกรรมในอายุ 46 ปี เมื่อปี 2010
แอนดรูว์ เมดอฟฟ์ ลูกชายคนรองของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในวัย 48 ปีเมื่อปี 2014
ซอนดรา ไวเนอร์ พี่สาวของเบอร์นี เมดอฟฟ์ ซึ่งสูญเงินไปกับแชร์ลูกโซ่จากน้องชายตนเองกว่า 3 ล้านดอลลาร์ ถูกพบเป็นศพกับสามีในบ้านพักเมื่อปี 2022 สันนิษฐานว่าเกิดจากการฆาตกรรมและฆ่าตัวตาย
ส่วน เบอร์นี เมดอฟฟ์ เสียชีวิตในเรือนจำวัย 82 ปีเมื่อปี 2021 จากภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งและโรคไตเรื้อรัง
ตัวตนของ เบอร์นี เมดอฟฟ์
แรงจูงใจในการก่อคดีแชร์ลูกโซ่ของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ยังคงสร้างความกังขาให้กับหลายฝ่าย เนื่องจาก เบอร์นี เมดอฟฟ์ ยอมรับเองว่า เขามีเงินเหลือให้คนทั้งครอบครัวใช้ไปตลอดชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินจากแชร์ลูกโซ่แม้แต่น้อย
มีการวิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นมากเกินไปของเขา ทำให้เขามองไม่เห็นความจริงที่ว่า การปกปิดแผนแชร์ลูกโซ่จากสมาชิกในครอบครัว ไม่ช่วยให้คนในครอบครัวรอดพ้นข้อครหาการพัวพันจากคดีแชร์ลูกโซ่ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไปได้
หนังสือพิมพ์ New York Times ได้สัมภาษณ์นักจิตวิทยา ซึ่งเปรียบเทียบ เบอร์นี เมดอฟฟ์ ว่าไม่ต่างจาก เท็ด บันดี อดีตนักข่มขืนและฆาตกรต่อเนื่อง เนื่องจาก เบอร์นี เมดอฟฟ์ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 17 ปีในการหาเหยื่อแชร์ลูกโซ่ไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผลจากกรรมดังกล่าวจะสร้างความทุกข์ทรมานให้กับเหยื่อแค่ไหน
รวมถึงกระแสวิจารณ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ขาดความรอบคอบในการตรวจสอบความโปร่งใสในเส้นทางการดำเนินธุรกิจของ เบอร์นี เมดอฟฟ์ โดยมองว่าเป็นผลจากการละเว้นการตรวจสอบบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีหน้ามีตาในสังคม จนนำไปสู่คดีแชร์ลูกโซ่ที่สร้างความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์การเงินของสหรัฐฯ จนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.investopedia.com/terms/b/bernard-madoff.asp
https://en.wikipedia.org/wiki/Bernie_Madoff
https://en.wikipedia.org/wiki/Madoff_investment_scandal
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter