ชัวร์ก่อนแชร์: ทำไม “แชร์ลูกโซ่” ถึงรู้จักในชื่อ Ponzi Scheme ?

04 พฤศจิกายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ธุรกิจแชร์ลูกโซ่กลายเป็นข่าวดังในสหรัฐฯ เมื่อปี 1920 เมื่อชาวอิตาเลียนอพยพที่ชื่อว่า ชาร์ลส์ พอนซี ได้เสนอแผนรวยทางลัดให้กับชาวอเมริกันจำนวนมากหลงเชื่อไปกับผลตอบแทนมหาศาลในเวลาอันสั้นของเขา จนรูปแบบธุรกิจกลโกงแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นที่รู้จักในชื่อ แผนร้ายของพอนซี หรือ Ponzi Scheme จนถึงวันนี้

ชาร์ลส์ พอนซี เกิดในเมืองลูโก ประเทศอิตาลี เมื่อปี 1882 ในครอบครัวที่เคยมีฐานะแต่ประสบปัญหาทางการเงินในภายหลัง


หลังไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ครอบครัวของพอนซีจึงสนับสนุนให้เขาไปเสี่ยงโชคยังสหรัฐอเมริกา เพื่อหวังกลับมาฟื้นฟูสถานะของครอบครัวอีกครั้ง

ชาร์ลส์ พอนซี เดินทางถึงเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เมื่อปี 1903 ด้วยเงินติดตัวเพียง 2.5 ดอลลาร์ หลังสูญเงินส่วนใหญ่ไปกับการพนัน แต่เขาก็ตั้งความหวังว่าจะต้องเป็นเศรษฐีเงินล้านในแผ่นดินแห่งโอกาสให้จงได้

แต่กลายเป็นว่า เส้นทางสร้างความร่ำรวยของ ชาร์ลส์ พอนซี กลับเต็มไปด้วยการข้องเกี่ยวกับความฉ้อฉล จนถูกจำคุกถึง 2 ครั้ง ทั้งคดีลักลอบพาผู้อพยพผิดกฎหมายเข้าเมืองในสหรัฐฯ และคดีปลอมแปลงเช็คในแคนาดา


ซึ่งช่วงที่ทำงานในประเทศแคนดานี่เอง ที่ ชาร์ลส์ พอนซี ได้รู้จักกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่เป็นครั้งแรก

ระหว่างที่อยู่ในประเทศแคนาดา ชาร์ลส์ พอนซี ทำงานเป็นผู้จัดการธนาคารสำหรับผู้อพยพชาวอิตาเลียนที่ชื่อว่า Banco Zarossi ซึ่งจูงใจนักลงทุนด้วยดอกเบี้ยเงินฝาก 6% ซึ่งสูงกว่าธนาคารอื่น ๆ ถึง 2 เท่าในขณะนั้น

อย่างไรก็ดี ดอกเบี้ยที่ธนาคาร Banco Zarossi มอบให้กับนักลงทุน ก็คือเงินฝากของนักลงทุนรายใหม่นั่นเอง ก่อนที่ Banco Zarossi จะปิดตัวลงหลังจากเจ้าของธนาคารหนีไปประเทศเทศเม็กซิโกพร้อมกับเงินที่ล่อลวงจากเหยื่อแชร์ลูกโซ่

ที่มาแผนร้ายของพอนซี

ชาร์ลส์ พอนซี นำธุรกิจแชร์ลูกโซ่จาก Banco Zarossi มาประยุกต์กับธุรกิจที่เขาคิดขึ้นมาเองภายหลัง ซึ่งเป็นการเก็งกำไรจากส่วนต่างราคาของวิมัยบัตรหรือตั๋วที่ใช้แลกซื้อแสตมป์ต่างประเทศ ซึ่งมีราคาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ

วิมัยบัตร (International Reply Coupon หรือ IRC) เป็นตั๋วที่สามารถใช้แลกเป็นแสตมป์ค่าจดหมายไปต่างประเทศ ใช้สำหรับการโต้ตอบจดหมายระหว่างผู้รับที่อยู่คนละประเทศ โดยผู้ส่งสอดวิมัยบัตรไปพร้อมกับจดหมาย ผู้รับปลายทางก็สามารถนำวิมัยบัตรไปแลกเป็นแสตมป์ได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อติดบนจดหมายตอบกลับ

อย่างไรก็ดี อัตราการนำวิมัยบัตรไปแลกเป็นแสตมป์ มีมูลค่าที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยช่วงปี 1920 ที่ ชาร์ลส์ พอนซี เริ่มวางแผนแชร์ลูกโซ่ หลายประเทศในยุโรปโดยเฉพาะประเทศอิตาลี ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ราคาวิมัยบัตรมีราคาที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ

ชาร์ลส์ พอนซี จึงคิดว่าการซื้อวิมัยบัตรราคาถูกในยุโรป สามารถนำมาแลกเป็นแสตมป์ในราคาที่สูงกว่าในสหรัฐฯ และสามารถทำกำไรจากส่วนต่างด้วยการนำแสตมป์ไปขายอีกทอดหนึ่ง

ชาร์ลส์ พอนซี ได้นำแนวคิดการค้ากำไรส่วนต่างไปเสนอกับนักลงทุนในเมืองบอสตัน โดยสัญญาว่า ผู้ที่ร่วมลงทุนกับเขา จะได้ผลตอบแทนจากเงินลงทุน 50% ใน 45 วัน และผลตอบแทนจากเงินลงทุน 100% ใน 90 วัน

เมื่อได้รับผลตอบแทนดังที่ ชาร์ลส์ พอนซี สัญญาไว้ ความสนใจของผู้คนต่อธุรกิจของ ชาร์ลส์ พอนซี ก็เริ่มขยายตัวในวงกว้าง เขาจึงเปิดตัวบริษัท Securities Exchange Company เพื่อดำเนินกิจการโดยเฉพาะ โดยช่วงเดือนมกราคม 1920 ที่บริษัทเปิดดำเนินการ มีผู้สนใจลงทุนจำนวน 18 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 1,800 ดอลลาร์

การให้ผลตอบแทนตรงตามสัญญาอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก ทำให้ธุรกิจของ ชาร์ลส์ พอนซี ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในบอสตัน จากกลุ่มเป้าหมายชนชั้นแรงงาน เริ่มมีนักลงทุนกลุ่มผู้มีการศึกษาและผู้มีฐานะในเมืองบอสตันสนใจลงทุนเพิ่มขึ้น

กระทั่งเดือนกรกฎาคม 1920 ชาร์ลส์ พอนซี สามารถทำรายได้จากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ถึงวันละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รายได้จากเหยื่อที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ชาร์ลส์ พอนซี กลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน เขานำเงินลงทุนจากเหยื่อไปซื้อแมนชันสุดหรู ซื้อรถยนต์ราคาแพง และซื้อตั๋วเรือสำราญชั้นเฟิร์สคลาสให้แม่เดินทางมาอาศัยในสหรัฐฯ พร้อมบริจาคเงินเพื่อการกุศลและสนับสนุนองค์กรศาสนาอีกด้วย

การสอบสวน

หนังสือพิมพ์ The Boston Post ซึ่งเคยรายงานข่าวความสำเร็จของ ชาร์ลส์ พอนซี เริ่มสงสัยความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินธุรกิจของเขา จึงได้ติดต่อไปยัง แคลเรนซ์ บาร์รอน นักข่าวด้านการเงิน และเจ้าของบริษัท Dow Jones & Company ให้มาสอบสวนเพื่อค้นหาความจริง

แคลเรนซ์ บาร์รอน ประเมินว่า เพื่อจะสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนของ ชาร์ลส์ พอนซี ทั้งหมด จำเป็นต้องมีการซื้อวิมัยบัตรจำนวนถึง 160 ล้านใบ แต่การตรวจสอบพบว่า มีวิมัยบัตรอยู่ในตลาดซื้อขายเพียง 27,000 ใบเท่านั้น สำนักงานไปรษณีย์ของสหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีปริมาณตั๋ววิมัยบัตรจำนวนมากขนาดนั้นถูกซื้อขายทั้งในสหรัฐฯ หรือในต่างประเทศเช่นกัน

ในทางปฏิบัติแล้ว การลงทุนซื้อวิมัยบัตรจำนวนมากเพื่อขายเอากำไรส่วนต่างแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากไปรษณีย์ในแต่ละประเทศมีการปรับอัตราราคาแสตมป์เพื่อป้องกันการค้าทำกำไรอยู่ก่อนแล้ว และความผันผวนของค่าเงินระหว่างประเทศ ทำให้การเก็งกำไรจากส่วนต่างของราคาแสตมป์ระหว่างประเทศแทบเป็นไปไม่ได้

ซึ่ง ชาร์ลส์ พอนซี ก็น่าจะรู้ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่การที่เขายังชักชวนผู้ลงทุนหน้าใหม่ได้เสมอ ทำให้ธุรกิจของเขายังดำเนินต่อไปได้สักระยะ

ภายหลัง ชาร์ลส์ พอนซี ได้ว่าจ้างผู้สื่อข่าวและนักประชาสัมพันธ์ วิลเลียม แม็คมาสเตอร์ มาดูแลด้านงานประชาสัมพันธ์ให้กับบริษัท แต่กลายเป็นว่า วิลเลียม แม็คมาสเตอร์ ก็สงสัยในธุรกิจของ ชาร์ลส์ พอนซี เช่นกัน หลังสืบหาข้อมูล วิลเลียม แม็คมาสเตอร์ ก็พบว่า ชาร์ลส์ พอนซี เป็นผู้ที่ไม่มีทักษะในการบริหารการเงิน และร่ำรวยจากการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้อมูลการสอบสวนของ วิลเลียม แม็คมาสเตอร์ ถูกนำไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Boston Post เมื่อเดือนสิงหาคม 1920 โดยพบว่าขณะที่ ชาร์ลส์ พอนซี อ้างว่ามีเงินพร้อมลงทุนกว่า 7 ล้านดอลลาร์ แต่แท้จริงแล้วเขามีหนี้อยู่ถึง 2 ล้านดอลลาร์ ส่วนการตรวจสอบโดยอัยการของรัฐแมสซาชูเซตส์พบว่าเขาเป็นหนี้ถึง 7 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ The Boston Post ยังขุดคุ้ยประวัติการร่วมธุรกิจแชร์ลูกโซ่กับธนาคารในแคนาดาของ ชาร์ลส์ พอนซี เมื่อ 13 ปีก่อนมาตีแผ่อีกด้วย

เมื่อจำนนด้วยหลักฐาน ชาร์ลส์ พอนซี จึงยอมรับผิด และถูกดำเนินคดีในข้อหาการฉ้อโกงทางไปรษณีย์

ความเสียหาย

มูลค่าความเสียหายจากแชร์ลูกโซ่ของ ชาร์ลส์ พอนซี ถูกประเมินในปี 1920 ว่ามีมูลค่าประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าในปัจจุบันประมาณ 314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1 หมื่นล้านบาท

จำคุกและจุดจบ

ในเดือนพฤศจิกายน 1920 ชาร์ลส์ พอนซี ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปีในข้อหาการฉ้อโกงทางไปรษณีย์

เมื่อได้รับอิสรภาพหลังจากจำคุกเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง ชีวิตของ ชาร์ลส์ พอนซี ก็ไม่เคยห่างหายจากการก่อคดีฉ้อฉลและการจำคุก ทั้งในสหรัฐฯ และอิตาลีบ้านเกิด ก่อนจะไปใช้ชีวิตช่วงท้ายที่ประเทศบราซิลในฐานะล่าม

ชาร์ลส์ พอนซี ใช้ชีวิตในช่วง 10 ปีสุดท้ายอย่างยากไร้ ส่วนสุขภาพก็ย่ำแย่ตามลำดับ มีอาการหัวใจวายในวัย 59 ปี ตาเกือบบอดสนิทในวัย 65 ปี มีอาการเลือดออกในสมองจนเป็นอัมพาตครึ่งซีกในวัย 66 ปี ก่อนจะเสียชีวิตในปี 1949 ที่โรงพยาบาลของเมืองริโอเดจาเนโร ตอนอายุ 66 ปี

ที่มาชื่อ Ponzi Scheme กับแชร์ลูกโซ่

แม้ ชาร์ลส์ พอนซี จะไม่ใช่ผู้คิดค้นการฉ้อโกงด้วยรูปแบบธุรกิจแชร์ลูกโซ่ แต่การฉ้อฉลที่เขาทำเอาไว้ในปี 1920 สร้างความเสียหายในวงกว้างมากกว่าธุรกิจแชร์ลูกโซ่ครั้งไหน ๆ ที่เคยมีมาในสหรัฐฯ จนมีการเรียกขานการล่อลวงผู้คนด้วยรูปแบบธุรกิจแชร์ลูกโซ่ว่าเป็นแผนร้ายของพอนซี หรือ Ponzi Scheme นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ข้อมูลอ้างอิง :

https://en.wikipedia.org/wiki/Ponzi_scheme
https://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Ponzi

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

อดีตครูจำใจสร้างห้องขังในบ้าน เตรียมคุมลูกติดยา

สลด! อดีตครูวัย 64 ปี จำใจจ้างช่างทำห้องคล้ายกรงขังในบ้าน เตรียมคุมลูกติดยา-พนันออนไลน์ หลังส่งตัวบำบัดกว่า 10 ครั้ง แต่ออกมาก็เหมือนเดิม

หนุ่มใหญ่ควบเก๋งเผลอเหยียบผิดพุ่งทะลุกำแพงอาคารจอดรถดิ่งตกจากชั้น 2

หนุ่มใหญ่ควบเก๋งเผลอเหยียบผิดพุ่งทะลุกำแพงอาคารจอดรถดิ่งตกจากชั้น 2 โชคดีบาดเจ็บเล็กน้อย เจ้าหน้าที่ส่งรักษาตัวที่ รพ.เจ้าพระยา

อาม่าแจ้งความ “หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง” หลอกทำพิธีสูญ 60 ล้าน

อาม่าวัย 77 ปี โร่แจ้งความเอาผิด “หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง” หลอกทำพิธี-แนะซื้อวัตถุมงคลแล้วไม่ได้รับของ สูญเงินกว่า 60 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ทนายตั้ม

“ทนายตั้ม” ปรากฏตัวแล้ว บอกไม่สบายใจมี ตร.เฝ้าหน้าบ้าน

ปรากฏตัวแล้ว “ทนายตั้ม” พบตำรวจเหตุมีเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าที่บ้าน พร้อมแจงปมเงิน 39 ล้านบาท ค่าศิลปินจีน ที่แท้เป็นมิจฉาชีพหลอก “เจ๊อ้อย” ปฏิเสธพบคู่กรณี บอกยังไม่พร้อมคุย

เกาะกูด

“ภูมิธรรม” ย้ำจะรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต

“ภูมิธรรม” มอง MOU44 คือกลไกที่ดีที่สุด ก่อนย้อนกลุ่มการเมือง พปชร.ไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง เพราะเป็นคนนำเจรจาในปี 57 ยันไม่เคยยกเลิกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย้ำรัฐบาลจะรักษาดินแดน-ผลประโยชน์ทางทะเลของไทยไว้เท่าชีวิต

US election

ทรัมป์-แฮร์ริส หาเสียงวันสุดท้าย ก่อนหย่อนบัตรวันนี้

ขณะนี้เหลือไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 5 พฤศจิกายน ผลสำรวจความเห็นประชาชนต่างชี้ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ และนางคอมมาลา แฮร์ริส