บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์แนะนำการแช่น้ำแข็งเพื่อบำบัดโรค ช่วยลดการอักเสบ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความเครียด แก้อาการปวดได้ จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ รศ.ดร.กภ.วรรธนะ ชลายนเดชะ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
“การแช่น้ำแข็ง” สามารถใช้ได้บางกรณี และนิยมใช้ในกลุ่มนักกีฬา
อุณหภูมิของน้ำที่ใช้แช่น้ำแข็ง ประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส
ร่างกายแช่น้ำแข็ง เกิดอะไรขึ้นกับกลไกร่างกาย ?
ตามหลักวิชาการ ความเย็นทั้งตัวจะทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย (แขนและขา) ลดลง เลือดจะไหลเข้าสู่ส่วนกลางของร่างกายเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อยู่คงที่ คือ 37.5 องศาเซลเซียส
ความเย็นกระตุ้นการทำงานของระบบร่างกาย ให้เมตาบอลิซึม (Metabolism) หรือระบบการเผาผลาญเพิ่มขึ้น อาจจะมีอาการสั่นของกล้ามเนื้อได้ และเพิ่มความร้อนภายในร่างกาย
ผลหลัก ๆ คือกระตุ้นให้สารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) หลั่งออกมา จะทำให้ร่างกายรู้สึกสบาย โดย “เอ็นดอร์ฟินส์” เป็นสารส่งผ่านเส้นประสาทที่ผลิตโดยต่อมใต้สมอง (Pituitary gland ) และต่อมใต้สมองส่วนล่าง (Hypothalamus) เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการปวด
สำหรับคนที่จะใช้วิธีการแช่น้ำแข็งทั้งตัวจะต้องมีร่างกายแข็งแรง จึงเหมาะสำหรับนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายประจำสม่ำเสมอ
ในคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงก็ไม่ควรใช้วิธีการแช่น้ำแข็ง เพราะจะเป็นอันตรายมากกว่า
“แช่น้ำแข็ง” สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ จริงหรือ ?
มีหลักฐานเพียงอย่างเดียวว่า “แช่น้ำแข็ง” สามารถ “ช่วยลดอาการปวด” หลังจากออกกำลังกาย แต่เรื่องการรักษาอื่น ๆ เช่น ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ก็ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจน
การแช่น้ำแข็งได้ผลดีกรณีปวดระบมหลังจากออกกำลังกาย แต่โดยทั่วไปแล้วการแช่น้ำแข็งก็ไม่ได้แตกต่างจากการประคบเย็นเฉพาะที่ ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดเข่าใช้ประคบเย็นเฉพาะที่ก็ได้ผลแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปแช่ทั้งตัว รวมถึงออฟฟิศซินโดรมรักษาเฉพาะที่ได้โดยไม่ต้องไปแช่ทั้งตัวเช่นกัน
“แช่น้ำแข็ง” ปรับสมดุลของระบบเผาผลาญได้ จริงหรือ ?
เรื่องนี้มีส่วนจริง เพราะ “แช่น้ำแข็ง” ทำให้ระบบเผาผลาญเพิ่มขึ้น ก็จะมีส่วนทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นบ้าง เสมือนกับขณะที่อยู่บริเวณอากาศเย็นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีวิธีอื่น ๆ ที่ทำได้นอกจากการใช้ความเย็น
ใกล้เคียงกับกลไกการออกกำลังกาย ขณะที่ไปออกกำลังกายร่างกายก็จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายและแช่น้ำแข็ง ดังนี้
1. การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การวิ่ง การเดิน
2. แช่น้ำแข็งเลือดจะเข้าไปเลี้ยงภายในมากขึ้น หัวใจก็ทำงานหนักขึ้น เหมือนออกกำลังกายให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ก็เป็นการเพิ่มเมตาบอลิซึมส่วนของร่างกายเหมือนกัน
การที่ร่างกายตอบสนองโดยมีการสั่นของกล้ามเนื้อ เพื่อจะเพิ่มอุณหภูมิ ก็ทำให้ใช้พลังงานมากขึ้นเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย แต่ก็เทียบไม่ได้กับการออกกำลังกาย ปกติแช่น้ำแข็งเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น เพราะถ้าแช่นานเกินไปอาจเกิดปัญหาถ้าอุณหภูมิของน้ำยังเย็นอยู่ จะทำให้อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายลดมากเกินไป เรียกว่า “ไฮโพเทอร์เมีย” (Hypothermia) หรือภาวะตัวเย็นเกิน ก็จะทำให้ร่างกายเกิดปัญหา หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น แต่ระบบประสาทจะทำงานได้ช้าลง อาจจะเป็นลม หรือมีอาการผิดปกติได้
ต้องการทดลอง “แช่น้ำแข็ง” ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ?
ใครก็ตามที่คิดทดลอง “แช่น้ำแข็ง” ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. มีร่างกายแข็งแรง และพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ
2. ไม่เป็นโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจ
3. ไม่เป็นโรคความดันเลือดสูง
4. รับความรู้สึกร้อน-เย็นได้ดี
5. มีความสามารถทนต่อความเย็นได้ดี
นอกจากนี้ มีข้อควรระวังเพิ่มเติม เช่น
1. ไม่มีบาดแผลเปิด
2. ไม่มีความดันเลือดสูง
3. ไม่เป็นโรคหัวใจ
4. ถ้ามีไข้ เป็นหวัด ไม่ควรลงแช่น้ำแข็ง (อาจทำให้อาการหนักมากขึ้น)
การรักษาด้วยการแช่น้ำแข็ง มีผลเชิงประจักษ์ชัดเจน เช่น ปวดกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย
สำหรับการรักษาที่ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ก็ไม่ควรแชร์ต่อ เพราะทำให้เสียโอกาสการรักษาอย่างอื่น
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : แช่น้ำแข็งบำบัดโรค จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter