กรุงเทพฯ 10 ต.ค.-ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.67 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน กังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่เงินหมื่นยังไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ตั้งเป้าหมาย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2567 ซึ่งพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า และความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าในเดือนนี้จะมีการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบางคนละ 10,000 บาท ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ตาม
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 48.8 52.7 และ 64.4 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในระดับ 50.2 53.9 และ 65.6 ตามลำดับ การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.5 เป็น 55.3 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าและค่าครองชีพสูง ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 40.4 เป็น 39.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 64.3 มาอยู่ที่ระดับ 63.1 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทุกรายการ แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ แม้ว่าจะมีมาตรการแจกเงินคนละ 10,000 บาท ออกมาแล้วก็ตาม
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินสถานการณ์อุทกภัยปี 2567 ว่าจะส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่าประมาณ 36,929 ล้านบาท โดยมีสมมติฐานว่า สถานการณ์น้ำท่วมจมจะคลี่คลายภายใน 15 วัน จากการวิเคราะห์ พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 27,434 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 74.3% ของความเสียหายทั้งหมด
ส่วนผลวิเคราะห์ความเสียหายแยกตามภาคเศรษฐกิจมี ดังนี้
- ภาคการเกษตร 27,434 ล้านบาท
- ภาคบริการ 9,209 ล้านบาท
- ภาคอุตสาหกรรม 287 ล้านบาท
มูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยปี 2567 คิดเป็นประมาณ 0.21% ของ GDP ของประเทศไทย จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ เชียงราย โดยมีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ เชียงใหม่ 4,232 ล้านบาท และพะเยา 3,292 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจนต่ำสุดในรอบ 14 เดือนว่า มีดังนี้
- รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน
- บริหารจัดการน้ำในช่วงไตรมาสที่ 4 เพื่อไม่ให้สถานการณ์น้ำท่วมขยายวงกว้างขึ้น
- เร่งดำเนินนโยบายต่างๆ ในการกระตุ้นเศรฐกิจโดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี
- การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ครอบคลุมรอบด้าน เช่น มาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากในประเทศ และต่างชาติ
- ดำเนินมาตรการควบคุมตลาดขายสินค้าออนไลน์ และปริมาณของสินค้าจีนที่เข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง. -512 – สำนักข่าวไทย