ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ 23 ก.ย. – นักเศรษฐศาสตร์ แนะไทยปรับตัวรองรับความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก ท่ามกลางขัดแย้งจีน-สหรัฐ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนา “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก นับต่อประเทศไทย” ความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลก มีระดับความขัดแข้ง เพิ่มความเสี่ยง นำไปสู่วิกฤติ และสงคราม เริ่มขยายวงกว้างกระทบไปหลายประเทศ รวมทั้งผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ย่อมกระทบต่อไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสหรัฐได้กีดกันทางการค้ากับจีน ยอมรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปุ๋ยราคาพุ่งร้อยละ 35-40 ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกไทยเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันเศรษฐกิจของโลก ขึ้นอยู่กับสหรัฐ จีน ยุโรป สงครามทางการค้า เพิ่มพัฒนาไปสู่สงครามทางเทคโนโลยี มีการป้องกันเทคโนโลยี การออกแบบไอที เมื่อจีนเป็นเจ้าของแหล่งแร่ธาตุสำคัญ ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มดิจิทัล มีการแย่งชิงผู้เชี่ยวชาญ ด้วยการให้วีซ่า การเสียภาษี และรูปแบบอื่นๆ ในการพัฒนาบุคคลากร ไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับปัญหาดังกล่าว โดยยกระดับการผลิตทุกห่วงโซ่อุปทานอาหาร รองรับเหตุการคาดการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต โดยมุ่งพัฒนาสินค้าเกษตรยุคใหม่ การรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างขั้วอำนาจ กระทบต่อการลงทุน การส่งออกของไทย กระชับความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของกลุ่มอาเซียน
นับว่าไทยมีความท้าทายสูงมาก จากเวทีโลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องดึงการลงทุนเข้าสู่ไทย ให้มีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง การพัฒนาฝีมือแรงงานทักษะสูง การรักษาความมั่นคงทางอาหาร รองรับความต้องการของคนในประเทศ ต้องวางแผนการผลิตในระยะยาว ด้วยการยกระดับการเกษตรสมัยใหม่ การวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ ด้านนโยบายระหว่างประเทศ แนะเติมเงินใส่ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้เต็ม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทย ดึงเด็กไทย มีศักยภาพทำงานอยู่ในต่างประเทศกลับเข้ามาพัฒนาเมืองไทย
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนไป เศรษฐกิจสหรัฐยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกสัดส่วน 1 ใน 4 ของจีดีพีโลก ขณะที่จีนมีสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของจีดีพีโลกในปี 1990 เพิ่มเป็นร้อยละ 16.9 ในปี 2023 ปัจจุบันจีนผลิตสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ สินค้าไฮเทค แต่ความต้องการใช้สินค้าประเทศจีนไม่เพียงพอ จนต้องส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยหาประเทศเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ เช่น เชื่อมฮังการี หวังส่งออกไปยังกลุ่มยุโรป เชื่อมกับเม็กซิโก หวังส่งออกไปอเมริกาใต้ เชื่อมกับสิงคโปร์ เวียดนาม เป็นศูนย์กลางส่งมายังอาเซียน สำหรับประเทศไทย เมื่อจีนลดการส่งออกสินค้าเกษตร นับว่าเป็นโอกาสของไทย ส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีน และต้องรอลุ้นว่า ใครชนะการเลือกตั้งในสหรัฐ เพื่อดูว่าการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ทรัมป์ จะเก็บภาษีสินทรัพย์ หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง อาจกระทบไทย และเตือนการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ หากสูงที่ร้อยละ 5 จนกระทบต่อไทยอย่างมาก
นายเบญรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จักการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จีนกำหนดแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว 30 ปี ข้างหน้าประกาศเป็นประเทศสังคมโมเดิร์น ในปี 2049 ในช่วงนี้จีนยังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆ เมื่ออาเซียน เป็นกลุ่มประเทศรองรับการค้า การลงทุน โดยจีนมุ่งเชื่อมโยงกับสิงคโปร์อันดับ 1 อินโดนีเซีย อันดับ 2 ไทยจึงต้องใช้โอกาสนี้รองรับการค้าการลงทุนจากจีน ไทยต้องมีจุดขายให้ชัดเจน ไทยมีจุดเด่น ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูแลเรื่อง ESG โดยผู้บริโภคสัดส่วนร้อยละ 80 ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าสนับสนุนความยั่งยืน กลุ่มสินค้าดิจิทัลและนวัตกรรมเติบโตจากร้อยละ 16 ในปี 67 เพิ่มเป็นร้อยละ 12.5 ในปี 68 ผู้บริโภคต้องการใช้ AI สำหรับการซื้อขายสัดส่วน 3ใน 5 ไทยจึงต้องใช้โอกาสนี้ ต้องปรับจุดยืน จุดขายในปัญหาหาภูมิรัฐศาสตร์
นายดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์สาขาเอเซีย ตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ จึงแนะนำ 1.ไทยวางตัวเป็นกลางแบบยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ มุ่งเข้าหามหาอำนาจชาติใด ชาติหนึ่ง แบบไม่เลือกข้าง 2.นโยบายเสริมสร้างแกนนอก ปรับตัวเพื่อให้ไทยอยู่รอด ด้วยการขยายอำนาจ ใช้นโยบายต่างประเทศเชิงรุก มีสถานะอันดับกลาง ถ่วงดุลในบางเรื่องให้มหาอำนาจเกรงใจ
3.นโยบายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางพื้นทวีปและพื้นที่สมุทรอาเซียน ไทยมีทำเลเหมาะที่สุด ในคุมคาบสมุทรมลายู ควรปกป้องผลประโยชน์การค้าการลงทุนทางทะเลอันดามัน อ่าวไทย เชื่อมต่อไปยังแปซิฟิค ทางออกของประเทศไทยมีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้น.-515- สำนักข่าวไทย