กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – “เกรียงไกร” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ นโยบาย ทรัมป์ 2.0 กดดันเศรษฐกิจโลกหนัก ส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง “สถานการณ์โลกเรื่องพลังงาน หลังเลือกตั้ง USA” ในงานสัมมนา 2024 The Annual Petroleum Outlook Forum “Regenerative Thailand with Cleanergy : คิดนำ ล้ำหน้า ขับเคลื่อนอนาคตไทย ด้วยพลังงานสะอาด” ว่า การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนโยบาย ทรัมป์ 2.0 Make America great agian กดดันเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจสูง จากความไม่แต่นอนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ทั้งยังเร่งให้เกิดการแบ่งขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ ทำให้การค้าโลกชะลอตัว และเกิดการย้ายฐานการผลิตจากนโยบาย America First เกิดการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีการค้าจากการกลับมาของ Trede war and Tech war ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม ต้นทุนสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ และสินค้าจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในตลาดอื่นมากขึ้น สหรัฐจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นกับประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ รวมทั้งอาจถูกกล่าวหาเป็นฐานผลิตของจีน และการแก้ไขปัญหาโลกร้อนชะลอออกไป เป้าหมาย Net zero อาจช้ากว่าที่กำหนด และอาจกลับไปสู่ยุคการแข่งขันด้านต้นทุน
ส่วนผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ ต่อประเทศไทย ด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐ อันดับที่ 14 (สมัยทรัมป์เป็นประธานาธิบดี และขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 12 ในปัจจุบัน) ได้ดุลประมาณ 2 หมื่นล้าน แน่นอนไทยต้องถูกจับตา แต่นโยบายกีดกันการค้าจากจีน จะส่งผลให้ไทยและอาเซียน มีโอกาสดีในการส่งออกไปสหรัฐ ทดแทนสินค้าจีน แต่ขณะเดียวกันดอลล่าร์ที่แข็งค่า ทำให้ส่งออกไทยดี แต่ผู้นำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น และสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาแข่งขันในไทยมากขึ้นเช่น รถไฟฟ้า ในส่วนของด้านการลงทุน เกิดการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาไทยมากขึ้น
ในส่วนของด้านพลังงาน นโยบายเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่จะทำให้ต้นทุนต่ำลงที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จะส่งผลกระทบต่อไทยในช่วงสั้นๆ ทำให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มลดลงหรือคงที่ ทั้งในตลาดโลกและไทย นโยบายถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส จะส่งผลต่อไทยด้านบวกคือช่วยลดแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกไทยในระยะสั้นกับการปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนด้านลบคือทิศทางของอุตสาหกรรมที่สนับสนุนด้านการใช้พลังงานสะอาด จะเกิดการชะลอตัวการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
นโยบายชะลอการดำเนินงานของ Inflation Reduction Actและการชะลอกฎหมาย Clean Competition Act จะส่งผลลบต่อไทยให้เกิดการชะตัวในการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทย เสียโอกาสต่อการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว
นโยบายส่งเสริมนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) และโซลาร์เซลล์ แต่ลดการให้เงินอุดหนุนหรือการให้เครดิตภาษีการลงทุนในส่วนของ พลังงานลม ไฮโดรเจน และ CCS ซึ่งนโยบายนี้จะส่งผลดีเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ ทดแทนส่วนที่สหรัฐฯ ต้องนำเข้าจากจีน และนโยบายเจรจาให้ยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลดีต่อไทยให้มีซัพพลายมากขึ้น ทั้งในส่วนของน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ปรับตัวลงในระยะสั้น
อย่างไรก็ตามไทยยังใช้โอกาสจาก Geopolitics ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งแก้โจทย์ให้ได้
“ทั่วโลกกำลังวิ่งไปสู่สีเขียว แต่เมื่อทรัมป์มาก็ต้องจับตาว่านโยบายด้านนี้ จะหัวกลับตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสู่ความยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยต้องยั่งยืน และ ส.อ.ท.เองก็ยืนยันเดินหน้าสู่ Green ความยั่งยืน และเดินหน้าลดโลกร้อนต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร ยังได้ย้ำถึงการเสนอรัฐบาลจัดตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ที่มีภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมสะท้อนข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ อย่างรอบด้าน ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พร้อมระบุที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอการจัดตั้งกรอ.พลังงาน มาอย่างต่อเนื่องในช่วงตลอด 2 ปี และจะกระทุ่งรัฐบาลต่อเนื่องจนกว่าจะจัดตั้ง กรอ.พลังงานได้สำเร็จ .-517-สำนักข่าวไทย