ชัวร์ก่อนแชร์: Pfizer ยอมรับ ไม่เคยทดสอบการแพร่เชื้อจากผู้ฉีดวัคซีน จริงหรือ?

20 มิถุนายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


ข้อมูลที่ถูกแชร์ :

มีข้อมูลบิดเบือนแพร่ทางคลิปวิดีโอทาง X (Twitter) ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ร็อบ รูส์ สมาชิกรัฐสภายุโรปชาวดัตช์ อ้างว่าผู้บริหารของ Pfizer บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ยอมรับว่า บริษัทไม่เคยทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อหลังการฉีดวัคซีน ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นเรื่องหลอกลวง


บทสรุป :

  1. จุดประสงค์หลักของวัคซีนคือการป้องกันการเสียชีวิตและป่วยหนัก
  2. ไม่มีวัคซีนใดป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ 100% แต่วัคซีนเหล่านั้นช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. การทดสอบในภายหลังพบว่าผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดโอกาสการแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีน

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

คลิปที่ ร็อบ รูส์ กล่าวอ้าง นำมาจากคำชี้แจงของ เจนีน สมอล ประธานฝ่ายการตลาดประเทศพัฒนาแล้วของ Pfizer ระหว่างร่วมการไต่สวนที่รัฐสภายุโรปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมปี 2022


ร็อบ รูส์ ตั้งคำถามว่า “วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ได้รับการทดสอบด้านการป้องกันการแพร่เชื้อก่อนนำมาใช้กับประชาชนหรือไม่” ซึ่ง เจนีน สมอล ตอบว่า “วัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer ไม่มีการทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้รับวัคซีนแต่อย่างใด”

คำตอบดังกล่าว ถูก ร็อบ รูส์ นำไปเผยแพร่ผ่านทาง X (Twitter) โดยโจมตีว่าการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเรื่องโกหก เพราะวัคซีนไม่เคยถูกทดสอบว่าป้องกันการแพร่เชื้อได้หรือไม่ การบังคับให้ผู้คนฉีดวัคซีนเป็นเรื่องน่าตกใจ ไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรม

ในเวลาแค่ 2 วันข้อความดังกล่าวถูกแชร์ไปกว่า 138,500 ครั้ง ได้รับยอดไลก์ไปถึง 232,600 ไลก์

อย่างไรก็ดี จุดประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 คือการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ไม่ใช่การป้องกันการแพร่เชื้อ และไม่มีหน่วยงานใดเคยอ้างว่าวัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ 100%

ไม่เคยมีการอ้างประสิทธิผลการป้องกันการแพร่เชื้อ

อัลเบิร์ต เบอร์ล่า ซีอีโอของบริษัท Pfizer เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NBC ช่วงก่อนการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมปี 2020 ว่า ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนจะเป็นพาหะหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้หรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

แถลงการณ์ขององค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FDA) และองค์การยาของสหภาพยุโรป (EMA) หลังการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 สำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ได้ระบุประเด็นด้านประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยหนักจากไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อและป่วยจากไวรัสได้นานแค่ไหน และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนจะป้องกันการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้หรือไม่

ไม่มีวัคซีนใดป้องกันการติดเชื้อ-แพร่เชื้อได้ 100%

แทบจะไม่มีวัคซีนใด ๆ ในปัจจุบันที่สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ 100% แต่วัคซีนเหล่านั้นก็สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัคซีนโรต้าไวรัส ช่วยป้องกันอาการท้องร่วงในเด็กเล็ก ก็มีคุณสมบัติเพียงป้องกันการป่วยหนัก แต่หลังการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรต้าไวรัสในสหรัฐฯ เมื่อปี 2006 เป็นต้นมา อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อโรต้าไวรัสลดลงเกือบ 90%

วัคซีนโรคไอกรนสำหรับทารก ก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคไอกรนได้ทั้งหมด แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนโรคไอกรนในสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกช่วงทศวรรษ 1940s อัตราการป่วยด้วยโรคไอกรนก็ลดลงจาก 100,000 รายต่อปี เหลือเพียง 10,000 รายต่อปีในปี 1965

นาตาชา โครว์ครอฟท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและที่ปรึกษาด้านโรคหัดและโรคหัดเยอรมันให้กับองค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายต่อนิตยสารวิทยาศาสตร์ Scientific American ว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ไม่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ ปัจจัยมาจากระดับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัส แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ช่วยป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 40% และป้องกันการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้ถึง 82%

วัคซีนสร้างเพื่อป้องกันป่วย-ตาย

ประโยชน์ทางอ้อมของวัคซีนยังรวมถึงการแบ่งเบาภาระให้กับหน่วยงานสาธารณสุข เพราะการป้องกันการป่วยหนักของวัคซีน ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยโรคร้ายแรงอื่น ๆ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2021 พบว่า ผู้ไม่ฉีดวัคซีนมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 1.5 ถึง 11 รายต่อประชากร 100,000 คน ต่างจากผู้ที่ฉีดวัคซีนที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ต่อสัปดาห์อยู่ที่ 0.1 ถึง 0.7 รายต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Internal Medicine พบว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนปี 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโอไมครอนระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 ในกลุ่มผู้ไม่ฉีดวัคซีนสูงกว่าคนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นถึง 10.5 เท่า ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้นก็มีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะโควิด-19 สูงกว่าคนที่ฉีดเข็มกระตุ้นแล้วที่ 2.5 เท่า

การทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนโควิด-19

แม้ระหว่างการทดลองทางคลินิก จะไม่มีการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนโควิด-19 แต่ต่อมาก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนโควิด-19 ในภายหลัง

เดวิด กอร์สกี ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมและมะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัย Wayne State University อธิบายว่า การทดลองทางคลินิกของ Pfizer คือการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งการทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนมีรูปแบบที่แตกต่างจากการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงไม่มีการทดสอบการป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนในระหว่างการทดลองทางคลินิก แต่มาศึกษาหลังจากวัคซีนได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนหลังใช้งานจริง

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet เมื่อปี 2021 พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech ครบ 2 โดส มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าคนไม่ฉีดวัคซีนถึง 3 เท่า (คนฉีดติดเชื้อ 4 จาก 10,000 ราย/วัน คนไม่ฉีดติดเชื้อ 14 จาก 10,000 ราย/วัน)

งานวิจัยในประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 พบว่า โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสแพร่เชื้อน้อยกว่าผู้ไม่ฉีดวัคซีน แม้ช่วงที่ไวรัสเดลต้าแพร่ระบาดจะพบว่า การป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนลดประสิทธิภาพลง แต่ยังพบว่าวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech ลดการแพร่เชื้อไวรัสเดลต้าแก่ผู้ฉีดวัคซีนได้ดีกว่าวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca

งานวิจัยในประเทศอิสราเอลพบว่า ในครอบครัวที่มีผู้ปกครองติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย โอกาสที่เด็กในบ้านซึ่งยังไม่ฉีดวัคซีนจะติดเชื้อโควิด-19 จะลดลงอย่างมากหากผู้ปกครองที่ติดเชื้อฉีดวัคซีนแล้ว โดยช่วงที่ไวรัสอัลฟ่าระบาด โอกาสแพร่เชื้อจากผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนสู่เด็กลดลงถึง 72.1% และลดลง 79.6% ในช่วงที่ไวรัสเดลต้าระบาด

งานวิจัยในประเทศเดนมาร์กซึ่งตรวจสอบการติดเชื้อใน 20,000 ครัวเรือน พบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อย่างมาก แม้แต่ในช่วงที่ไวรัสโอไมครอนแพร่ระบาดก็ตาม

ข้อมูลอ้างอิง :

https://healthfeedback.org/claimreview/scientific-studies-show-pfizer-biontech-covid-19-vaccine-reduces-transmission-claim-rob-roos-misleading/
https://www.factcheck.org/2022/10/scicheck-its-not-news-nor-scandalous-that-pfizer-trial-didnt-test-transmission/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ประหารชีวิตแอมไซยาไนด์

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์”

ศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิต “แอม ไซยาไนด์” ส่วนอดีตสามี คุก 1 ปี 4 เดือน “ทนายพัช” คุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ชดใช้ ให้ผู้เสียหายกว่า 2 ล้านบาท

นายกฯ ถกตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก

นายกฯ ถกแต่งตั้งนายพลตำรวจ 41 ตำแหน่ง ยันไม่มีการเมืองแทรก ยึดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ พลิกโผ ‘สยาม บุญสม’ ผงาดคุมนครบาล ‘สันติ ชัยนิรามัย’ นั่ง ผบช.ปส. ‘ไตรรงค์ ผิวพรรณ’ โยกคุมไซเบอร์ ‘ภาณุมาศ บุญญลักษม์’ ขึ้นเป็น ผบช.สตม.

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้าน

ดีเอสไอพบเส้นเงินโอนจากแม่ถึงนักการเมือง ส. เกือบ 100 ล้านบาท จำนวนนี้พบโอนจาก “บอสพอล-บอสปีเตอร์” ด้วย เร่งขยายผลมีบอสรายอื่นโอนเข้าบัญชีดังกล่าวอีกหรือไม่

ข่าวแนะนำ

“เอวา” เสือโคร่งสายแบ๊ว ดาวรุ่งดวงใหม่

หน้าตาที่น่ารักบ้องแบ๊วเหมือนแมวตัวโต ตกหัวใจคนรักสัตว์กันไปเต็มๆ สำหรับน้องเอวา เสือโคร่งสายแบ๊วของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นอกจากหน้าตาน่ารักแล้วยังมีความสามารถหลายอย่าง จนกลายเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ ที่ผู้คนแห่ไปชมความน่ารักกันอย่างคึกคัก คาดจะช่วยดึงนักท่องเที่ยวไปที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ต้อนรับอบอุ่น “โอปอล” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ถึงไทย

กลับถึงไทยแล้ว “โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 ปรากฏตัวในชุดไทย สวยสง่า แฟนนางงามต้อนรับอย่างอบอุ่น

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

นายกฯ โชว์วิสัยทัศน์บนเวที Forbes ดันเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์

“นายกฯ แพทองธาร” โชว์วิสัยทัศน์บนเวที Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ดันเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ รับมือความท้าทาย ชูจุดเด่นไทยอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาคการเกษตรที่เข้มแข็งดึงดูดนักลงทุน บอกกระตุ​้นเศรษฐกิจ​แจกเงินหมื่นเฟส​ 2 พุ่งเป้าเงินสะพัด ลั่น​จุดยืนไทยวางตัวเป็นทูตสันติภาพ พร้อมปรับตัวตามนโยบาย “ทรัมป์”