สนามเป้า 27 พ.ค. – ปปง.แจงมาตรการจัดระเบียบชื่อซิม ชื่อบัญชีอีแบงก์กิ้งต้องตรงกัน แค่เริ่มตรวจสอบวันนี้ ยังไม่ระงับธุรกรรม เปิดโอกาสชี้แจงแก้ไขกับธนาคาร มั่นใจแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ได้แน่
พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่ามาตรการสกัดกั้นซิมผีบัญชีม้าในระบบการเงินออนไลน์ (Mobile Banking) ที่ประกาศเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป คือวันนี้ เป็นการเริ่มตรวจสอบ โดยธนาคารซึ่งปัจจุบันมีบัญชีในระบบ 106-107 ล้านบัญชีจะส่งข้อมูลให้ กสทช.ตรวจสอบว่า มีกี่บัญชี ที่เจ้าของซิมและบัญชี ไม่ใช่ชื่อเดียวกัน โดยวันนี้จะยังไม่เริ่มปิดกั้นการโอนเงินผ่านอีแบงก์กิ้ง แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของบัญชีที่มีชื่อไม่ตรงกับซิมโทรศัพท์ได้เข้าไปชี้แจงข้อมูลกับธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ หากเปลี่ยนได้ ให้แจ้งเปลี่ยนให้ชื่อตรงกัน โดยการตรวจสอบจะใช้เวลา 120 วัน เบื้องต้นธนาคารประมาณการว่า มีบัญชีที่เจ้าของชื่อไม่ตรงกับซิม ประมาณ 30-50 ล้านบัญชี โดยหากเจ้าของบัญชียังไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ทาง ปปง.จึงจะเพิ่มมาตรการสกัดกั้นการใช้บริการระบบการเงินออนไลน์
อย่างไรก็ตาม มี 3 กลุ่มที่ชื่อบัญชีและซิมไม่ตรงกันและให้แจ้งธนาคารได้ ให้เป็นดัลยพินิจของธนาคาร ว่า เสี่ยงเป็นบัญชีม้าหรือไม่ ได้แก่ 1.กลุ่มบุคคลในครอบครัว เช่น ชื่อซิมพ่อ บัญชีลูก หรือชื่อซิมลูกบัญชีพ่อแม่ที่สูงอายุ 2.กลุ่มคนที่ต้องดูแลตามคำสั่งศาล และ 3.เลขหมายเบอร์โทรภาครัฐหรือบริษัท เลขบัญชีพนักงาน 3 กลุ่มนี้ขอให้ทำหนังสือหรือเข้าชี้แจงตัวตนกับธนาคาร กรณีหมายเลขโทรศัพท์องค์กร ก็ขอให้มีหนังสือจากองค์กรแจ้งต่อธนาคารก็สามารถใช้โมบายแบงก์กิ้งได้ปกติ การคัดกรองจะเน้นที่บัญชีที่ชื่อไม่ตรงซิม ที่เปิดในช่วง 1-2 ปีก่อน ส่วนที่เปิดมานานและไม่เสี่ยงเป็นบัญชีม้า จะติดตามให้เจ้าของแก้ไขหรือแจ้งเหตุที่ชื่อไม่ตรงกับธนาคาร โดยข้อความแจ้งถึงเจ้าของบัญชี ธนาคารจะส่งตรงทางแอพฯ ธนาคารเท่านั้น ไม่มีการส่งเอสเอ็มเอส ดังนั้นหากมีข้อความทางเอสเอ็มเอสในเรื่องอย่าได้หลงเชื่อโดยเด็ดขาด
รองเลขาธิการ ปปง. กล่าวด้วยว่ามาตรการนี้ เพื่อจัดการกับปัญหาแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และพนันออนไลน์ ที่ใช้บัญชีม้า ซิมผีจำนวนมาก ปัจจุบันมีคดีถูกหลอกจากคอลเซ็นเตอร์มากถึงกว่า 5 แสนคดีแล้ว ทยอยจับกุมได้หลักพันคดี จึงต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้น ซึ่งมาตรการชื่อซิมกับเจ้าของบัญชีต้องตรงกัน เป็นมาตรการที่ประเทศทั่วโลกใช้ ประเทศไทยจึงต้องจัดระบบ เพราะที่เป็นอยู่ชื่อไม่ตรงกันเป็นช่องโหว่ให้คอลเซ็นเตอร์ใช้หลองลวงสร้างความเสียหาย ทำให้มีเหยื่อถูกหลอกจำนวนมาก ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับ ปปง. และธนาคารจึงเริ่มมาตรการนี้อย่างเข้มข้น หากทำได้สำเร็จจะปราบปรามเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ที่ประเมินว่ามีกว่าหลายแสน หรือมากถึงล้านบัญชีได้แน่นอน.-119-สำนักข่าวไทย