กรุงเทพฯ 13 พ.ค. – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม., นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม., สำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามการก่อสร้างและการปรับปรุงงานระบายน้ำในจุดสำคัญต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการตรวจการบ้านก่อนจะเข้าฤดูฝนอย่างแท้จริง โดยจุดเสี่ยงน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นจุดเสี่ยงน้ำฝน 617 จุด และจุดเสี่ยงน้ำหนุนริมแม่น้ำ ซึ่งประกอบด้วยจุดฟันหลอและจุดน้ำซึม 120 จุด ดำเนินการแก้ไขแล้ว 289 จุด โดยจุดที่ยังทำไม่เสร็จ 100% ก็ได้มีการเข้าไปบรรเทา เช่น การติดตั้งเครื่องสูบ เป็นต้น
จากนั้น ผู้ว่าฯ กทม. และคณะ ลงพื้นที่จุดแรก คือ ถนนศรีอยุธยา บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บ่อสูบ PIPE JACKING คือ ระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของท่อระบายน้ำ ซึ่งถนนศรีอยุธยาถือว่าเป็นจุดที่มีน้ำท่วมเยอะพอสมควร โดยการดำเนินการระบบบ่อสูบมีความคืบหน้าไปแล้ว 90% และงานดันท่อเหลือการเชื่อมบรรจบท่อที่สำคัญ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หากจุดนี้ดำเนินการเสร็จจะช่วยบรรเทาน้ำท่วมบริเวณ ถนนพระรามหก หน้ากระทรวงการต่างประเทศ โรงพยาบาลสงฆ์ สน.พญาไท เป็นต้น โดยจากการลงตรวจหน้างานในวันนี้ พบปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่น มีขยะที่อาจเข้าไปติดในระบบ และงานในภาพรวมยังเรียบร้อยไม่ 100% ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไขต่อไป
จุดต่อมาเป็นคูน้ำวิภาวดี บริเวณคลองบางซื่อ (ขาออก) บริเวณนี้จะเป็นจุดที่แบ่งน้ำเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งไปลงดินแดง อีกส่วนไปลงที่คลองบางซื่อ ซึ่งต้องดูแลขุดลอกไม่ให้อุดตัน โดยบริเวณนี้เป็นพื้นที่ของกรมทางหลวง การดำเนินการต่าง ๆ กรุงเทพมหานครจะต้องเร่งประสานงานเพื่อให้การทำงานราบรื่นเป็นเนื้อเดียวกัน
จากนั้น เคลื่อนพลต่อไปยังคลองด่วน บริเวณสวนลุมไนท์บาซาร์ ซึ่งปีที่แล้ว บริเวณนี้เป็นจุดที่ท่วมหนักตรงหน้าศาลอาญา เป็นเพราะว่าท่อมีจุดบล็อกอยู่ แต่ตอนนี้ได้ทำการทะลวงท่อแล้ว ซึ่งจะช่วยการระบายน้ำดีขึ้น ปิดท้ายด้วยการส่องงานที่คลองน้ำแก้ว บริเวณวัดลาดพร้าว โดยบริเวณนี้จะทำการปรับดาดท้องคลองให้สามารถดึงน้ำได้เร็วขึ้น ช่วยให้ดูดน้ำจากแถวรัชดามายังลาดพร้าวและลงคลองบางซื่อได้เร็วขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนมิถุนายน
“การระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร หัวใจคือ ต้องระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และทำอย่างไรให้ระบายออกไปเร็วที่สุด ซึ่งต้องใช้ท่อและระบบต่าง ๆ ระบายน้ำลงคลองออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงที่น้ำหนุน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงกว่าน้ำในคลอง ปากคลองต่าง ๆ จึงต้องมีประตูระบายน้ำกั้น เพื่อสูบน้ำจากคลองข้ามประตูออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต่อมาก็มีโครงการเพิ่มเติมคืออุโมงค์ระบายน้ำที่นำน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง แต่อาจมีข้อจำกัดคือ อุโมงค์จะรับน้ำได้เป็นจุด ๆ ต่างจากคลองที่รับน้ำได้ตลอดเส้นทาง เพราะฉะนั้น เราจึงต้องตรวจสอบทุกจุดให้เรียบร้อยและทำงานได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อรับมือฤดูฝนที่จะมาถึงในปีนี้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว. -417-สำนักข่าวไทย