Plandemic ปฐมบทสารคดีลวงโลก เบื้องหลังไวรัสโควิด-19

20 เมษายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


เมื่อปี 2020 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ที่มีการแชร์คลิปและข้อมูลจากสารคดีขนาดสั้นเรื่อง Plandemic กันอย่างแพร่หลาย แต่กลายเป็นว่า เนื้อหาเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 และการโจมตีนโยบายรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างไม่ถูกต้อง กลายเป็นต้นทางแห่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเผยแพร่ทางโลกไซเบอร์จนถึงทุกวันนี้

Plandemic เป็นชุดสารคดีไตรภาคที่พยายามอ้างว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีการวางแผนล่วงหน้า โดยสารคดีตัวปฐมบทได้แก่ Plandemic : The Hidden Agenda Behind Covid-19 สารคดีความยาว 26 นาที เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020


รูปแบบของ Plandemic 1 เน้นเนื้อหาจากบทสัมภาษณ์ระหว่าง มิกกี วิลลิส อดีตนายแบบและนักแสดงที่ผันตัวมาเป็นนักสร้างสารคดีแนวทฤษฎีสมคบคิด และ จูดี ไมโควิตส์ นักวิจัยผู้มีแนวคิดต่อต้านวัคซีน

Fact Checker หลายสำนักได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคำกล่าวอ้างของ จูดี ไมโควิตส์ ในหลายประเด็น แบ่งเป็นหัวข้อสำคัญ ๆ ดังนี้

  1. จูดี ไมโควิตส์ ถูกจำคุกเพื่อปิดปาก – ไม่จริง

ในช่วงต้นของสารคดี จูดี ไมโควิตส์ อ้างว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและจำคุกโดยไม่มีข้อหา เพื่อเป็นการปิดปากไม่ให้เธอเปิดโปงแผนลับที่วงการแพทย์พยายามปกปิด โดยอ้างว่าเป็นฝีมือของ แอนโทนี เฟาซี อดีตผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIAID)


แต่แท้จริงแล้ว จูดี ไมโควิตส์ เคยถูกจำคุกเป็นเวลา 5 วันเมื่อปี 2011 ในข้อหาขโมยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และทรัพย์สินอื่น ๆ จากสถาบัน Whittemore Peterson Institute for Neuro-Immune Disease ในรัฐเนวาดา โดยก่อนหน้านี้ สถาบันได้ไล่เธอออก หลังพบว่าเธอทำการดัดแปลงผลวิจัยที่อ้างว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อรีโทรไวรัสกับโรคล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome : CFS) จนวารสารการแพทย์ Science สั่งถอนงานวิจัยในเวลาต่อมา

  1. ไวรัสโควิด-19 พัฒนาจากไวรัสโรคซาร์สในเวลาเพียงทศวรรษเดียว – ไม่จริง

แม้ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 จะมีชื่อที่คล้ายกับไวรัส SARS-CoV-1 ที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส แต่ไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ได้พัฒนามาจากไวรัส SARS-CoV-1 ตามที่ จูดี ไมโควิตส์ กล่าวอ้าง เนื่องจากมีพันธุกรรมที่คล้ายกันเพียง 79% โดยการสำรวจพบว่าไวรัสโควิด-19 น่าจะมีที่มาจากไวรัสโคโรนาในค้างคาว ซึ่งมีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมกว่า 90%

  1. ไวรัสโควิด-19 เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม – ไม่จริง

จากการตรวจสอบโครงสร้างพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไม่พบหลักฐานว่าไวรัสโควิด-19 การเกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมโดยฝีมือมนุษย์ และน่าจะเป็นไวรัสที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

แนวคิดต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19 ที่แวดวงวิทยาศาสตร์ให้การยอมรับ คือ 1. เกิดการระบาดหลังการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน 2. ไวรัสที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หลุดออกจากห้องปฏิบัติการระหว่างการทดลอง

  1. การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 – ไม่จริง

จูดี ไมโควิตส์ อ้างว่า สาเหตุที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากในประเทศอิตาลี มีสาเหตุจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีส่วนประกอบของไวรัสโคโรนา และมีงานวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน 36%

อย่างไรก็ดี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย จะใช้ไวรัส Influenza A หรือ B ในการผลิตวัคซีน แต่ไม่มีการใช้ไวรัสโคโรนาในการผลิตตามที่กล่าวอ้าง

ส่วนงานวิจัยที่อ้างว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 นำมาจากงานวิจัยที่เผยแพร่ช่วงต้นปี 2019 เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจชนิดต่าง ๆ ระหว่างผู้ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และผู้ไม่ฉีดวัคซีน

ผลวิจัยพบว่า ขณะที่ผู้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่น้อยกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน แต่กลับติดเชื้อไวรัสโคโรนามากกว่าคนไม่ฉีดวัคซีน โดยมีสัดส่วน odds ratios ที่ 1.36

อย่างไรก็ดี การสำรวจดังกล่าวทำขึ้นช่วงปี 2017-2018 หรือ 2 ปีก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 และไวรัสโคโรนาที่กล่าวถึงคือไวรัสโคโรนา 4 สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดตามฤดูกาล ดังนั้นงานวิจัยที่กล่าวอ้างจึงไม่เกี่ยวข้องกับไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด

  1. ยา Hydroxychloroquine รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ดี – ไม่จริง

แม้มีงานวิจัยเพื่อพิสูจน์สรรพคุณของ Hydroxychloroquine ยารักษาโรคมาลาเรียเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่การทดลองจนถึงปัจจุบันไม่พบหลักฐานว่า Hydroxychloroquine มีประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด

  1. การสวมหน้ากากทำให้ไวรัสในร่างกายกลับมากำเริบ – ไม่จริง

ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากในที่สาธารณะ เพราะอาจต้องใช้เวลานานถึง 14 วัน ก่อนที่ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะแสดงอาการ ดังนั้นจุดประสงค์หลักของการสวมหน้ากาก คือการป้องกันการแพร่เชื้อโรคต่อชุมชนโดยไม่ตั้งใจ

ริชาร์ด เพลเทียร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์-แอมเฮิร์สต์ ชี้แจงว่า การสวมหน้ากากไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานของไวรัสในร่างกาย เป็นแค่การป้องกันเชื้อโรคจากละอองเสมหะเข้าสู่ปากและรูจมูก เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ควรรู้ รวมถึงตัว ดร.จูดี ไมโควิตส์ เช่นกัน

การระบาดของ Plandemic

แม้จะเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่การเผยแพร่ Plandemic : The Hidden Agenda Behind Covid-19 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2020 ก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนจากกลุ่มเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดทั้ง QAnon และ อเล็กซ์ โจนส์

ชื่อของ จูดี ไมโควิตส์ กลายเป็นหนึ่งในชื่อที่ถูกค้นหาทาง Google มากที่สุดติดต่อกัน 2 วัน และส่งผลให้คำว่า Plandemic กลายเป็นคำที่ถูกใช้บน X (Twitter) เพิ่มขึ้นกว่า 155%

เนื่องจากมีข้อกล่าวอ้างที่ต้องตรวจสอบหลายประการ กว่าแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จะลบ Plandemic ออกไปจากระบบได้ สารคดีสุดอื้อฉาวก็ทำยอดวิวรวมกันหลายสิบล้านวิวแล้ว และยังคงหลงเหลือบนโลกไซเบอร์ในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นและข้อความที่อ้างมาจากสารคดี

สาเหตุที่สารคดีฉาวเป็นที่นิยม

แม้บุคลากรในวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และสาธารณสุข จะร่วมกันประณามการสร้างสารคดี Plandemic ในข้อหาเป็นภัยสังคม แต่สาเหตุที่สารคดีเป็นที่นิยม ได้รับการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารว่า สารคดีสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการผลิตวิดีโอให้มีคุณภาพระดับมืออาชีพ ทั้งการถ่ายภาพ การตัดต่อ ดนตรีประกอบ ซึ่งส่งผลต่อการยอมรับผู้ชมทั้งสิ้น

การที่สารคดีออกมาในช่วงที่วงการวิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มาของไวรัส และเป็นช่วงที่สาธารณชนต้องการคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงความต้องการหาคนรับผิดชอบ คำตอบที่ชัดเจนใน Plandemic คือสิ่งที่ผู้คนในสังคมเฝ้ารอ แม้จะไม่มีเรื่องที่พิสูจน์ได้เลยก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า ผู้ผลิตสารคดี Plandemic ใช้เทคนิคการโน้มน้าวใจหลายวิธี โดยเฉพาะเทคนิคที่เรียกว่า Gish Gallop หรือการนำเสนอข้อมูลต่อเนื่องเป็นชุด ๆ เพื่อให้ผู้ฟังไม่มีเวลาทันวิเคราะห์ว่า ข้อกล่าวอ้างแต่ละเรื่องมีความถูกต้องหรือสมเหตุผลหรือไม่

นอกจากนี้ การปิดกั้นการนำเสนอสารคดี Plandemic ทางสื่อกระแสหลัก ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนกลับไปกระตุ้นให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Streisand Effect หรือการเกิดความสนใจต่อสิ่งที่เจตนาจะไม่ให้เป็นที่สนใจ จนเรื่องดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนในเวลาต่อมา

ปัจจัยทั้งหมด นำไปสู่ความโด่งดังของ Plandemic สารคดีที่เผยแพร่ข่าวปลอมข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเข้าใจผิดในสังคมจนถึงวันนี้

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.politifact.com/article/2020/may/08/fact-checking-plandemic-documentary-full-false-con/
https://en.wikipedia.org/wiki/Plandemic
https://en.wikipedia.org/wiki/Gish_gallop
https://en.wikipedia.org/wiki/Streisand_effect

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงนายก อบจ.เพชรบุรี แชมป์เก่ายังแรง

เลือกตั้งนายก อบจ.เพชรบุรี ไม่คึกคัก ผลไม่เป็นทางการ “ชัยยะ อังกินันทน์” แชมป์เก่า คะแนนนำทิ้งห่างคู่แข่ง ด้านเลขาฯ กกต. เผยภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด คนมาใช้สิทธิน้อย คาดเบื่อเลือกตั้ง 2 รอบ

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

ลุ้นผลเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ขณะนี้การนับคะแนนตามหน่วยต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ในขั้นตอนการรวมคะแนน ซึ่งในเขตเมือง ผลปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคประชาชนมีคะแนนนำ แต่อำเภอรอบนอก ตัวแทนพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำอยู่หลายหน่วยเลือกตั้ง

เร่งประสานอินเตอร์โพลขอหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ”

ตำรวจเตรียมออกหมายจับเครือข่าย “หมอบุญ” ฉ้อโกง ลอต 2 รวมทั้งเร่งประสานอินเตอร์โพล ออกหมายแดงล่าตัว “หมอบุญ” กลับมาดำเนินคดี