กรุงเทพฯ 3 ม.ค.- ปตท. รุกธุรกิจโลจิสติกส์ ผ่าน GML ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศลดต้นทุนขนส่ง เริ่มจากระบบราง และต่อเชื่อมทุกการขนส่ง หวังภาครัฐแก้อุปสรรค ตั้งเป้ารายได้ปี 67 ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท คาด 5 ปี สู่ระดับ 6 พันล้านบาท
นายชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บมจ. ปตท. และ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) เปิดเผยว่า ปี 2567 GML ร่วมกับพันธมิตรในการเพิ่มปริมาณขนส่งทางราง เพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายส่งออก 5,000 ตู้
หลังจากปี 2566 บริษัทร่วมกับพันธมิตรทดลองส่งสินค้าไปจีน เช่น ทุเรียน,ยาง,ข้าว และเม็ดพลาสติก ไปแล้วกว่า 400 ตู้ มีมาร์จิ้นหลายร้อยล้านบาท ดังนั้น จึงจะเพิ่มการขนส่งสินค้าปศุสัตว์มากยิ่งขึ้น โดยหารือกับทางการจีน ในการแก้ไขปัญหาเครื่องมือตรวจสินค้าประเภทกุ้ง และไก่ควบคู่ไปด้วย ในขณะเดียวกันได้ศึกษาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและปัญหาการขนส่งทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อรวบรวมเสนอรฐบาลในการแก้ปัญหาโลจิสติกส์ ซึ่งถ้าภายใน 1-2 ปีนี้ รัฐบาลสามารถขจัดอุปสรรคที่ติดขัดทั้งระบบศุลกากร และสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ใช้ร่วมกับรถบรรทุกได้ เช่น เปิดด่าน 24 ชั่วโมง หรือ แบ่งเวลาวิ่ง เช่น รถบรรทุกวิ่งกลางวัน ส่วนรถไฟวิ่งเช้า และเย็น รวมถึงต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนต่างๆให้เพียงพอ ก็จะทำให้การขนส่งสินค้าดำเนินการได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ GML จัดตั้งเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศไทย เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ทั้งขนส่งสินค้าทางราง ทางทะเล ทางบกและทางอากาศการบริหารจัดการคลังสินค้า ห้องเย็น รวมถึงการบริหารและให้เช่าทรัพย์สินสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ให้กับผู้ประกอบการ โดยปัจจุบัน ไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์ ขนส่งต่อหน่วยเทียบกับ GDP อยู่ที่ 13-14% คิดเป็นมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท และพึ่งพาการขนส่งทางถนนกว่า 85% ฉะนั้น หากลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้ 1% ก็จะลดต้องทุนได้ 2.4 แสนล้านบาท
“ปี 67 หากขนส่งสินค้า 5,000 ตู้ สร้างรายจากการขนส่งได้ราว 1,500 ล้านบาท และ ตั้งเป้าหมายแผน 5 ปี มีรายได้จากการขนส่งสินค้า ราว 5,000 -6,000 ล้านบาท เฉพาะขนส่งทางราง แต่หากในอนาคตมีการขนส่งทางอากาศเข้ามาเพิ่ม คาดว่ารายได้จะโตขึ้นเท่าตัว โดยสัดส่วนรายได้จากการขนส่งทางราง จะอยู่ที่ 40% และขนส่งทางอากาศ จะอยู่ 60% แต่อยุ่บนพื้นฐานที่รัฐต้องขจัดอุปสรรคเปิดประตูสู่การขนส่งสินค้าทางอากาศให้แล้วเสร็จก่อน” นายชาญศักดิ์ กล่าว
นายชาญศักดิ์ ย้ำ การขนส่งสินค้าทางอากาศ ยังเป็นช่องทางสำคัญของประเทศไทยที่จะขยายเส้นทางการค้า เชื่อมโยงขนส่งสินค้าผ่านระบบสายการบินกับระบบราง เพื่อส่งเสริมการเป็น Logistic hub และไทยมีข้อได้เปรียบจากพื้นที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าได้ไม่ยาก แต่ยังมีอุปสรรค เช่น เรื่องของ พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี (Free trade Zone) ที่จากการศึกษาเห็นว่า ยังมีหลายส่วนงานที่ต้องปรับแก้ เช่น เรื่องของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารผ่านแดน หรือ พิธีศุลกากร ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ เพื่อเอื้อให้สายการบินต่างๆ เข้ามาใช้สนามบินของไทยเป็นฐานการขนส่งสินค้าสู่ประเทศอื่น โดย GML ได้หารือและทำความร่วมมือกับ บริษัทการบินไทย และ บมจ.ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และพันธมิตร เพื่อร่วมมือกัน ยกระดับ ‘แวร์เฮาส์’ การบินไทย ให้เป็นระบบออโตเมชั่น 100% ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแนวทางการร่วมลงทุนซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบใด และต้องวางงบประมาณลงทุนเท่าใดก็จะเสนอ บอร์ด ปตท.พิจารณาต่อไป
ปัจจุบัน GML ลงทุนโลจิสติกส์ในจีน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร คือ บริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์ โรด จำกัด (PAS) โดยมีข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยูกับภาครัฐในเมืองต่างๆของจีน ใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีน เริ่มขนส่งสินค้าไป “กว่างโจว”, “เจิ้งโจว”, “คุนหมิง” และ“เฉิงตู” รวม 5 เมือง มีประชากรรวมกว่า 1,000 ล้านคน คิดเป็นส่วนราว 3ใน4 ของประชากรจีน และปัจจุบัน ยังมีอีกหลายเมืองที่ทยอยทำเอ็มโอยู ร่วมกัน .511 .- สำนักข่าวไทย