ฉะเชิงเทรา/ชลบุรี 14 ธ.ค. – สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี (EEC) ร่วมมือกับอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เดินหน้าผลักดันตำบลบางคล้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจแห่งใหม่ของภาคตะวันออก
นายศิริชัย เผ่าบรรจง นายกเทศมนตรีตำบลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซีเดินหน้าโครงการผลักดันการท่องเที่ยวในตำบลบางคล้า ให้เป็นหมุดหมายใหม่ของการท่องเที่ยวภาคตะวันออก โดยชูจุดเด่นการท่องเที่ยวทางน้ำเป็นหลัก คือ การล่องแพเพื่อชมวัดวาอาราม และวิถีชีวิตของชาวบ้านริมสองฝั่งน้ำบางปะกง ในตำบลบางคล้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ถูกใจของบรรดานักท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นอก เหนือไปจากจังหวัดชลบุรี และระยอง ด้าน ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงโครงการการท่องเที่ยวตำบลบางคล้า ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่นำเสนอโดยนายกเทศมนตรีตำบลบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ว่าเป็นการสื่อถึงภารกิจอีกด้านหนึ่งของ สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ไม่ได้มุ่งเน้นพัฒนาเฉพาะอุตสาหกรรมและการศึกษา แต่ยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนภาคตะวันออกด้วย
นอกจากโครงการผลักดันตำบลบางคล้าให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยกการดำเนินงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตบ้านโพธิ์เป็นกรณีตัวอย่าง ชี้ให้เห็นถึงการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นรากฐานของผู้ประกอบการในการมุ่งสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ใน Supply Chain และผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานโลก ผลักดันให้อีอีซี ก้าวสู่ศูนย์กลางลงทุนยานยนต์ EV แห่งภูมิภาค นอกจากนี้ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยังยกการดำเนินงานของโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์ ที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเชื่อมประโยชน์จากการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซี สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 8,500 ตันต่อปี รวมทั้งต่อยอดการลงทุนเพื่อยกระดับชุมชน เช่น สนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค ส่งผลดีครอบคลุมไปถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จังหวัดชลบุรี ส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือเป็นการขับเคลื่อนเพื่อสร้างระบบนิเวศการลงทุน เตรียมบุคลากรทักษะสูงเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย นวัตกรรมขั้นสูงเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ อีอีซี โมเดล จนสามารถผลิตบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมได้มากถึง 54,573 คน และคาดว่าในปี 2567 จะสามารถผลิตบุคลากรเพิ่มได้อีกกว่า 75,000 คน จากตัวเลขเป้าหมายที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ประมาณ 475,668 คน.-สำนักข่าวไทย