ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 2.37 กระทบเงินเฟ้อไม่มาก

นนทบุรี 13 ธ.ค.- ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 2.37 ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มาก แม้สินค้าที่มีต้นทุนด้านแรงงานสูง แต่จำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนบ้าง ขณะที่สินค้าที่มีการแข่งขันสูงการปรับขึ้นราคาสินค้าจึงจะมีน้อย 


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2 – 16 บาท ซึ่งเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.37 ส่งผลกระทบให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไม่มากนักเพียงร้อยละ 0.13-0.25 ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบ 2 เดือนต่อเนื่องยังไม่น่ากังวล และไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจถดถอย เป็นเพียงสัญญาณที่สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังปรับเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างเหมาะสมในระยะต่อไป

ปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างแบบไตรภาคี (หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง) ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมจะทำให้แรงงานสามารถครองชีพตามอัตภาพได้ และย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่มีความสำคัญปัจจัยหนึ่ง ต้นทุนของแรงงานที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ภาครัฐมีนโยบายสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของผู้ประกอบการในทุกมติ ดังนั้น การเพิ่ม ค่าจ้างอย่างเหมาะสมและคุ้มค่ากับผลิตภาพแรงงานย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการมากนัก สำหรับในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพย่อมช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และจะมีผลสะท้อนด้านบวกกลับมายังการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศในที่สุด 


สนค. ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อ พบว่า กรณีหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 345 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.13 – 0.25 ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้แรงงานเป็นต้นทุนการผลิตของแต่ละอุตสาหกรรม สินค้าที่มีต้นทุนด้านแรงงานสูงมีความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการต้นทุนมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่มีการแข่งขันสูงการปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีน้อย 

โดยผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนด้านอื่น ๆ แทน ดังนั้น การส่งผ่านไปยังเงินเฟ้ออาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ สำหรับสินค้าและบริการที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารสำเร็จรูป  ข้าว การสื่อสาร ผักสด และผลไม้สด เนื่องจากมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างสูงในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อและเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานค่อนข้างเข้มข้น โดยในปี 2567 สนค. คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 0.7) โดยมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอาจ

เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ราคาเนื้อสุกรที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ


นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ข้อเท็จจริงในขณะนี้ พบว่าแม้เงินเฟ้อติดลบ 2 เดือนต่อเนื่องในเดือน ต.ค. และ พ.ย. และมีแนวโน้มติดลบในเดือน ธ.ค. 2566 แต่ไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากังวล และไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการลดลงของเงินเฟ้อเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ทำให้สินค้าสำคัญในกลุ่มพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า) ปรับตัวลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าเข้าสู่ระดับปกติ 

หากพิจารณาจาก 3 เงื่อนไขของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พบว่า เงินเฟ้อไทยยังไม่ตรงทั้ง 3 เงื่อนไข ซึ่งประกอบด้วย (1) อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานหรือประมาณ 1 ไตรมาส ซึ่งเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มติดลบ 1 ไตรมาส (2) อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลาย ๆ หมวดสินค้าและบริการ พบว่า ราคาสินค้าและบริการที่ลดลงมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ในสินค้ากลุ่มพลังงานและค่ากระแสไฟฟ้า และ (3) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น เงื่อนไขข้อนี้ไม่สอดคล้องเช่นกัน เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 GDP ขยายตัวร้อยละ 2.5 และในปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.7 -3.7 ขณะที่ด้านตลาดแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าภาวะเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่องของไทยจะไม่น่ากังวล แต่เป็นสัญญานบ่งชี้ว่าไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อระดับต่ำ จากปี 2565 อยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 6.08 ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสมกับแนวโน้มเงินเฟ้อระดับต่ำต่อไป

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงานขั้นต่ำดีขึ้น และมีผลทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถือว่าเป็นการปรับให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลในเรื่องการปรับค่าจ้างจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้นนั้น จากข้อเท็จจริงพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลราคาสินค้าและบริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ได้ติดตามราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด.-514-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี