อุดรธานี 16 พ.ย. – อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งเจ้าหน้าที่เร่งจับ “อิกัวนาเขียว” สัตว์ต่างถิ่นที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี พบแพร่กระจายพันธุ์ในพื้นที่ชุมชน ล่าสุดจับได้ 3 ตัว โดยจะจับต่อเนื่อง หวั่นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชี้หากปล่อยสู่ธรรมชาติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) เร่งจับ “อิกัวนาเขียว” สัตว์ต่างถิ่นซึ่งพบแพร่กระจายพันธุ์ในพื้นที่ชุมชน ตามที่พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำชับให้กรมอุทยานฯ เร่งแก้ปัญหา
วันนี้ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ. 10 หัวหน้าสวนรุกขชาติบ้านดุง หัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าหนองคาย หัวหน้าศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวม 20 คนได้ประชุมร่วมกับนายอำเภอบ้านดุงและคณะกรรมการบริหารพื้นที่คำชะโนดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการกระจายพันธุ์ การทำลายพืชผล การรบกวนระบบนิเวศน์ของอิกัวนาเขียว บริเวณพื้นที่คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้นำอิกัวนาเขียวออกจากบริเวณพื้นที่โดยด่วน
คณะเจ้าหน้าที่จึงร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการดักจับอิกัวนาเขียวได้ 3 ตัว พร้อมนำไปดูแลที่ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.สังคม จ.หนองคายต่อไป จากนั้นจะได้ร่วมกันวางแผนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต่อไป
สำหรับสาเหตุที่มีอิกัวนาเขียวในพื้นที่คำชะโนด เนื่องจากมีผู้ลักลอบนำมาปล่อย การขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังไม่พบการกระจายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง และยังไม่พบว่า มีการกระจายเข้าไปทำลายพืชผลการเกษตรของราษฎรแต่อย่างใด
สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อิกัวนาเขียวและสัตว์กลุ่มกิ้งก่า มักพบเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสและทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือนอาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการ อาเจียน ท้องเสียได้ ซึ่งทีมสัตวแพทย์จะเก็บตัวอย่างเพื่อไปตรวจสอบเชื้อ
นายอรรถพลกล่าวว่า อีกัวนาเขียว เป็นสัตว์ต่างถิ่น (Alien Species) ในสกุล Iguana จากทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง จัดเป็นสัตว์ป่าควบคุมกลุ่มที่ 1 ของอนุสัญญาไซเตส ตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
กรมอุทยานฯ ได้จัดประชุมหารือในประเด็น “อิกัวนาเขียว สัตว์ป่าต่างถิ่น กรณีศึกษา เขาพระยาเดินธง” เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 65 โดยมีผู้ประกอบด้วยสมาคม ชมรม ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจ ป้องกัน ควบคุม สัตว์ป่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดต่างๆ ไม่ให้หลุดรอดออกไป จนส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
สำหรับมาตรการลดจำนวนนั้น ต้องมีการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งครอบครองเพิ่มเติม ต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์และขออนุญาตค้า เพื่อสะดวกในการควบคุมจัดทำการขึ้นทะเบียนผู้มีไว้ในครอบครอง และไม่อนุญาตให้เพาะและค้ารายใหม่เพิ่มเติม รวมถึงมีมาตรการประกาศห้ามนำเข้าอิกัวน่าเขียวเข้ามาภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดประชุมร่วมกับเครือข่าย สมาคม ชมรมผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ต่างประเทศหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในการจับและนำออกจากพื้นที่ร่วมกับชุมชน และกำหนดทิศทางการดำเนินกับอิกัวน่า
พร้อมยกตัวอย่างว่า ในรัฐฟลอริดา คณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์ป่าสนับสนุนให้กำจัดโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอิกัวนาที่ปรากฏตามที่สาธารณะ โดยไม่ต้องขออนุญาต ในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของอิกัวนา มีการแปรรูปเป็นอาหาร จัดทำเมนูเด็ด และมีราคาแพง เช่น ที่ประเทศกายอานา ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 2,400 บาท
กรมอุทยานฯ ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศให้มีความรับผิดชอบปฏิบัติข้อกฎหมายไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตและหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานฯ ซึ่งมีระเบียบดำเนินการในส่วนนี้แล้ว
สำหรับประชาชนที่พบเห็นอิกัวนาเขียว ให้แจ้งมาทางสายด่วน 1362 กรมอุทยานฯ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการและรับมาตรวจสุขภาพก่อนส่งไปดูแลตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ส่วนผู้ที่ครอบครองอีกัวนาเขียว ให้มาแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ สำหรับในพื้นที่ต่างจังหวัดให้แจ้งต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ในท้องที่รับผิดชอบ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้แจ้งต่อกองคุ้มครองพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.-สำนักข่าวไทย