fbpx

ชัวร์ก่อนแชร์: ชาวญี่ปุ่นป่วยหนักจากน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี จริงหรือ?

29 กันยายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล


บทสรุป :

  1. คลิปที่แชร์คือกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะซึ่งเกิดจากการกินอาหารทะเลปนเปื้อนสารปรอทจากโรงงานเคมี
  2. โรคมินามาตะจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาการจะแตกต่างจากผู้ป่วยที่สัมผัสกัมมันตรังสี
  3. น้ำทิ้งจากโรงงานในเมืองมินามาตะไม่ได้ผ่านการบำบัดน้ำเสีย ต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้ว

ข้อมูลที่ถูกแชร์ :


มีคลิปวิดีโอข้อมูลบิดเบือนเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยอ้างว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเลมีความอันตรายอย่างมาก เพราะในอดีตมีหลักฐานว่าชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเคยป่วยหนักและเสียชีวิตจากการกินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากน้ำปนเปื้อนสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 1950’s มาแล้ว

FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :

จากการตรวจสอบโดย Taiwan FactCheck Center ยืนยันว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในคลิปที่เผยแพร่ คือกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะ หรือโรคที่เกิดจากสารปรอท ไม่ใช่ผู้ป่วยที่สัมผัสกัมมันตรังสีตามที่กล่าวอ้าง


Minamata Disease

โรคมินามาตะ ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปี 1956 ที่เมืองมินามาตะ จังหวัดคูมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเด็กในหมู่บ้านชาวประมงเกิดอาการชักกระตุกและมีปัญหาในการพูดพร้อม ๆ กันหลายคน

มีความพยายามแยกคนป่วยออกจากชุมชนเพื่อป้องกันการติดต่อของโรค แต่ภายหลังกลับพบอาการประหลาดกับสัตว์หลายชนิดที่อาศัยอยู่ใกล้หมู่บ้านชาวประมง อาทิ แมวหลายตัวเกิดอาการชักกระตุกและตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ ฝูงการ่วงตกมาตายจากท้องฟ้า ฝูงปลาลอยตายเกลื่อนทะเล สาหร่ายไม่ขึ้นตามชายฝั่งเหมือนในอดีต

การสอบสวนโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยคูมาโมโตะพบว่า ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการชาที่ปลายมือและเท้า การเดินติดขัด ผู้ป่วยค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการพูด การได้ยิน การมองเห็น การกลืนอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก ในรายที่อาการรุนแรงจะเกิดอาการชักกระตุกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยปี 1956 พบผู้ป่วย 40 ราย และมีผู้เสียชีวิต 14 ราย

ทีมวิจัยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านชาวประมงของเมืองมินามาตะ และแมวส่วนใหญ่ที่ตายก็อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวประมงเช่นกัน จึงสันนิษฐานว่าคนและสัตว์น่าจะป่วยจากภาวะอาหารเป็นพิษ จากสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในปลาและหอยที่จับได้จากทะเล

Chisso Corporation

ที่มาของสารพิษเกิดจากน้ำปนเปื้อนสารพิษที่ปล่อยจากโรงงานของบริษัท Chisso Corporation โรงงานสารเคมีขนาดใหญ่ที่ดำเนินกิจการในเมืองมินามาตะตั้งแต่ปี 1908 ตัวอย่างน้ำเสียที่ปล่อยจากโรงงานประกอบไปด้วยสารโลหะหนักจำนวนมาก ทั้ง ตะกั่ว ทองแดง แมงกานีส และปรอท

กระทั่งปี 1959 จึงได้รับการยืนยันว่า สาเหตุการป่วยเป็นโรคมินามาตะ มาจากสารปรอทที่ปล่อยจากน้ำเสียของโรงงานของบริษัท Chisso Corporation เมื่อตัวอย่างโคลนในคลองที่ใช้ปล่อยน้ำเสีย พบปริมาณสารปรอทถึง 2 กิโลกรัมต่อตะกอน 1 ตัน เทียบเท่าปริมาณที่พบจากการทำเหมือง ซึ่งภายหลัง Chisso Corporation ยังได้ตั้งบริษัทเพื่อจำหน่ายสารปรอทที่รวบรวมมาจากคลองที่ใช้ปล่อยน้ำเสียโดยเฉพาะ

เมื่อสารปรอทในแหล่งน้ำทำปฏิกิริยากับแบคทีเรีย ทำให้เกิดปรอทอินทรีย์ (Methylmercury) ซึ่งมีพิษต่อระบบประสาท เป็นปรอทที่เป็นพิษมากที่สุดเนื่องจากสามารถละลายในไขมันและจับกับโปรตีนในเซลล์ จึงถูกขับออกจากร่างกายได้ยากและสามารถสะสมในร่างกายในปริมาณมาก

ปี 1959 จังหวัดคูมาโมโตะสั่งห้ามขายปลาที่จับจากอ่าวมินามาตะ ส่วนกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นออกคำสั่งให้โรงงานของบริษัท Chisso Corporation ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและเปลี่ยนเส้นทางการปล่อยน้ำเสียให้ไกลจากหมู่บ้านชาวประมง โดย Chisso Corporation ยอมชดใช้เงินให้ผู้ป่วยและเสียชีวิตจากน้ำเสียปนเปื้อนที่ปล่อยมาจากโรงงาน

ระหว่างพิธีติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ประธานของ Chisso Corporation ยังได้ดื่มน้ำที่อ้างว่านำมาจากน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วเพื่อยืนยันถึงความปลอดภัย

การกลับมาของโรค

แม้ทุกอย่างดูเหมือนจะคลี่คลายลง แต่ภายหลังกลับยังพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคมินามาตะ ทั้งในจังหวัดคูมาโมโตะและจังหวัดคาโงชิมะ

ปี 1961 พบเด็กจำนวนมากป่วยด้วยภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ที่คล้ายกับการป่วยด้วยโรคมินามาตะในผู้ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมไม่คิดว่ามีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากเด็กเหล่านี้เกิดหลังการระบาดของโรคมินามาตะผ่านไปแล้ว และไม่เคยกินปลาที่ปนเปื้อนสารปรอท ส่วนผู้เป็นแม่ก็ไม่เคยแสดงอาการของโรคมินามาตะเช่นกัน

รวมถึงความเชื่อที่ว่ารกในครรภ์มารดาจะช่วยปกป้องทารกในครรภ์จากสารพิษที่ถ่ายทอดจากกระแสเลือดของมารดา ซึ่งเป็นจริงสำหรับกรณีสารเคมีส่วนใหญ่ แต่ตรงกันข้ามกับปรอทอินทรีย์ เมื่อรกในครรภ์จะดึงปรอทอินทรีย์ออกจากกระแสเลือดในตัวแม่ แล้วไปสะสมยังทารกในครรภ์ ส่งผลให้เด็กเกิดมาพร้อมกับโรคมินามาตะ

ในปี 1965 โรคมินามาตะกลับมาระบาดอีกครั้งในจังหวัดนีงาตะ สาเหตุจากการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนปรอทอินทรีย์สู่แหล่งน้ำโดยโรงงาน Showa Denko นำไปสู่การฟ้องร้องบริษัทในปี 1968 ส่งผลให้โรคมินามาตะได้รับการจับตาจากคนทั้งประเทศ

การปกปิดข้อมูล

ภายหลังมีการเปิดเผยว่าระบบบำบัดน้ำเสียที่โรงงานของบริษัท Chisso Corporation ซึ่งติดตั้งเมื่อปี 1959 ไม่สามารถกำจัดปรอทอินทรีย์ในน้ำเสียจากโรงงานได้ การติดตั้งเป็นเพียงการแก้ปัญหาเพื่อลดกระแสต่อต้านจากชาวเมืองเท่านั้น

ส่วนงานวิจัยที่พบปริมาณสารปรอทเกินปกติในเส้นผมของประชาชนในพื้นที่ ก็ไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ของจังหวัด ส่งผลให้โรคมินามาตะแพร่ระบาดเป็นเวลายาวนานถึง 10 ปี จนการระบาดของโรคมินามาตะทั้ง 2 ครั้งถูกยกให้เป็น 2 จาก 4 โรคสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น (Four Big Pollution Diseases of Japan)

ผลกระทบของคนและสัตว์จากการระบาดของโรคมินามาตะดำเนินมากว่า 36 ปี มีจำนวนผู้ป่วยกว่า 12,000 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ราย เมืองมินามาตะต้องยุติการจับปลาจนถึงปี 1997 บริษัท Chisso Corporation ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบกว่า 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในความเสียหายด้านอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ไม่ใช่อาการผู้ป่วยที่สัมผัสกัมมันตรังสี

จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ อาการป่วยของผู้ได้รับสารกัมมันตรังสีขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาของการสัมผัส หากได้รับกัมมันตรังสีปริมาณสูง อาจทำให้เกิดความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน (Acute Radiation Syndrome) ได้แก่การคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ และผิวหนังไหม้

หากได้รับกัมมันตรังสีเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดและการเกิดโรคมะเร็ง

ส่วนภาพที่นำมากล่าวอ้าง คืออาการของผู้ป่วยที่สัมผัสพิษจากสารปรอท ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางเป็นหลัก ไม่ใช่อาการของผู้ป่วยที่สัมผัสกัมมันตรังสีแต่อย่างใด

ข้อมูลอ้างอิง :

https://tfc-taiwan.org.tw/articles/9581
https://en.wikipedia.org/wiki/Minamata_disease
https://ej.eric.chula.ac.th/article/view/276
https://amarc.co.th/methyl-mercury-amarc-article/

ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พบศพโบลท์หญิงวัย 47 ในป่าหญ้าริมทาง คาดถูกฆ่าชิงรถ

โบลท์หญิงวัย 47 ปี หายตัวจากบ้านพักย่านดินแดง 9 วัน ล่าสุดพบเป็นศพในป่าหญ้าริมถนนสายนครชัยศรี-ห้วยพลู อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ส่วนรถยนต์โผล่ที่ จ.ภูเก็ต คาดถูกคนร้ายฆ่าชิงรถ

pagers on display

ทำไมยังมีการใช้ “เพจเจอร์” ในยุคสมาร์ทโฟน

ลอนดอน 19 ก.ย.- เพจเจอร์ หรือวิทยุติดตามตัวเป็นอุปกรณ์การสื่อสารยอดนิยมในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ที่ต้องหลีกทางให้แก่โทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่ยังคงมีการใช้งานในบางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เพจเจอร์ระเบิดพร้อมกันหลายพันเครื่องทั่วเลบานอนเมื่อวันที่ 17 กันยายน แหล่งข่าวเผยว่า ฮิซบอลเลาะห์ใช้เพจเจอร์ เนื่องจากเป็นช่องทางสื่อสารเทคโนโลยีต่ำ ส่งข้อความผ่านสัญญาณวิทยุ จึงตรวจจับสัญญาณและตำแหน่งได้ยากกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ส่งสัญญาณไปยังเสาส่งที่อยู่ใกล้ที่สุด อีกทั้งไม่มีเทคโนโลยีระบุพิกัดบนพื้นโลกอย่างจีพีเอสด้วย อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ (FBI) ของสหรัฐเผยว่า ในอดีตแก๊งอาชญากรรมโดยเฉพาะแก๊งค้ายาเสพติดในสหรัฐเคยนิยมใช้เพจเจอร์ แต่ขณะนี้หันมาใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินราคาถูกที่สามารถเปลี่ยนเครื่องและหมายเลขได้อย่างง่ายดาย ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามแกะรอยได้ยาก อย่างไรก็ดี  ศัลยแพทย์โรงพยาบาลใหญ่แห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักรเผยว่า เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ที่แพทย์และพยาบาลสังกัดสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือเอ็นเอชเอส (NHS) ต้องพกติดตัวอยู่เสมอ เพื่อรับแจ้งข่าวในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นช่องทางที่ถูกที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการแจ้งข่าวทางเดียวกับคนจำนวนมาก เพจเจอร์หลายรุ่นสามารถส่งเสียงไซเรนและมีข้อความเสียงแจ้งให้ทีมแพทย์ไปรวมตัวที่ห้องฉุกเฉินได้ทันที ข้อมูลล่าสุดในปี 2562 ระบุว่า เอ็นเอชเอสใช้เพจเจอร์ประมาณ 130,000 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 10 ของที่ใช้ทั่วโลก คอกนิทีฟมาร์เก็ตรีเสิร์ช  (Cognitive Market Research) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยคาดการณ์ว่า ตลาดเพจเจอร์จะเติบโตร้อยละ 5.9 ต่อปี จากปี 2566 ถึงปี 2573 […]

ข่าวแนะนำ

พายุโซนร้อนซูลิก

ฤทธิ์พายุโซนร้อนซูลิก ทำฝนเริ่มตกหนักในพื้นที่นครพนม

ฤทธิ์พายุโซนร้อน “ซูลิก” ทำฝนเริ่มตกหนักในพื้นที่ จ.นครพนม เจ้าหน้าที่ต้องเร่งเดินเครื่องสูบน้ำลงน้ำโขง

อุตุฯ เตือนพายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 12 ฝนถล่มหลายจังหวัด

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนพายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 12 ภาคเหนือ อีสาน กลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง

ชายแดนแม่สายยังเละจมโคลน จับตาพายุลูกใหม่

แม้จะผ่านน้ำท่วมใหญ่ในรอบร้อยปีมาหลายวันแล้ว แต่ตอนนี้ชายแดนแม่สายยังเต็มไปด้วยความเสียหายและดินโคลนจำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนยังไม่สมารถกลับเข้าบ้านได้

นายกฯ ตรวจความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

นายกฯ ตรวจความพร้อมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การซ้อมเป็นรูปขบวนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 7 ณ โรงเรือพระราชพิธี ท่าวาสุกรี และวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ขณะที่ “เจ้าอาวาสวัดอรุณฯ” ให้กำลังใจทำหน้าที่ได้เต็มที่-ประสบความสำเร็จ