02 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
ปริมาณน้ำทริเทียมที่ปล่อยจากญี่ปุ่นถือว่าน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับปริมาณต่อปีที่ปล่อยจากโรงงานนิวเคลียร์อื่น ๆ ทั่วโลก
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ ที่อ้างว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จะสร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรแปซิฟิกและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากน้ำทริเทียม (Tritiated Water) จะถูกปล่อยลงสู่ทะเลในปริมาณมหาศาล
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ปริมาณทริเทียมจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นรายงานว่า การบำบัดน้ำด้วยกระบวนการ Advanced Liquid Processing System (ALPS) ทำให้นิวไคลด์กัมมันตรังสีของน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะถูกเจือจางลงจนมีปริมาณน้อยกว่าที่พบในธรรมชาติ เหลือเพียง คาร์บอน-14 และ ทริเทียม ที่ไม่สามารถกำจัดได้ จึงต้องนำเข้าสู่กระบวนการเจือจางด้วยน้ำทะเล
ก่อนการเจือจางในน้ำมีปริมาณคาร์บอน-14 เพียง 1 ใน 10 ของระดับมาตรฐาน และเมื่อผ่านการเจือจางแล้วจะเหลือคาร์บอน-14 เพียง 1 ใน 1,000 ของระดับมาตรฐาน ส่วนทริเทียมในน้ำที่ผ่านการเจือจางแล้วจะเหลือเพียง 1 ใน 40 ของระดับมาตรฐาน
นอกจากนี้ น้ำจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อถูกปล่อยสู่ทะเลในรัศมีมากกว่า 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง จะเหลือปริมาณทริเทียมไม่ถึง 1 เบ็กเคอเรลต่อลิตร เทียบเท่าปริมาณทริเทียมที่พบในธรรมชาติ ส่วนน้ำที่อยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง จะมีปริมาณทริเทียมระหว่าง 1-10 เบ็กเคอเรลต่อลิตร ซึ่งน้อยกว่าปริมาณทริเทียมที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้มีในน้ำดื่มอย่างมาก (10,000 เบ็กเคอเรลต่อลิตร)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะมีแผนที่จะระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วลงสู่ทะเลเป็นเวลา 30 ปี คิดเป็นปริมาณทริเทียมที่ปล่อยสู่ทะเลไม่เกิน 22 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปี
ปริมาณทริเทียมจากโรงงานนิวเคลียร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
แม้แผนการระบายน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจะถูกต่อต้านจากผู้คนในสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างหนัก แต่ข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 ยืนยันว่า โรงงานนิวเคลียร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนหลายแห่ง มีอัตราการปล่อยน้ำปนเปื้อนทริเทียมหรือน้ำทริเทียม (Tritiated Water) ต่อปีสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะอย่างมาก โดยพบว่าโรงงานนิวเคลียร์ฉินชาน ในมณฑลเจ้อเจียง ปล่อยน้ำทริเทียมสู่สิ่งแวดล้อมต่อปีมากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะประมาณ 10 เท่า (143 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปีในปี 2020 และ 319 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปีในปี 2017)
การสำรวจพบว่า โรงงานนิวเคลียร์หลายแห่งในประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ต่างปลดปล่อยทริเทียมสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ โดยปี 2018 โรงงานโคริ ในเมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ปลดปล่อยทริเทียม 50 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปี ส่วนปี 2020 โรงงานฝูชิ้ง ในมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ปลดปล่อยทริเทียม 52 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปี
ปริมาณทริเทียมจากโรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลก
ข้อมูลจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นรายงานว่า โรงงานนิวเคลียร์ในหลายประเทศมีสัดส่วนการปล่อยทริเทียมสู่สิ่งแวดล้อมสูงกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ โดยปี 2018 พบว่า โรงงานกำจัดกากนิวเคลียร์ที่เมืองลาเฮก ประเทศฝรั่งเศส ปลดปล่อยทริเทียมลงสู่สิ่งแวดล้อมถึง 11,460 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปี
ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าว The Conversation อธิบายว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactors) ซึ่งจะสร้างทริเทียมในปริมาณน้อยกว่าโรงงานนิวเคลียร์ชนิดอื่น ต่างจาก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฮย์แชมในประเทศอังกฤษ ใช้เครื่องปฏิกรณ์หล่อเย็นด้วยแก๊สที่สร้างทริเทียมในปริมาณมาก และปลดปล่อยทริเทียมลงสู่สิ่งแวดล้อมถึง 1,300 ล้านล้านเบ็กเคอเรลต่อปี
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฮย์แชม ดำเนินการมากว่า 40 ปี ไม่ปรากฏหลักฐานว่ากัมมันตรังสีจากโรงงานส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือต่อสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.techarp.com/facts/chinese-nuclear-tritium-fukushima/
https://theconversation.com/no-the-fukushima-water-release-is-not-going-to-kill-the-pacific-ocean-200902
https://www.meti.go.jp/english/earthquake/nuclear/decommissioning/pdf/202104_bp_breifing.pdf#page=29
https://www.iaea.org/sites/default/files/publications/documents/infcircs/2023/infcirc1121.pdf
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter