กรุงเทพฯ 30 มิ.ย. – ปลัดพาณิชย์เร่งหามาตรการช่วยเกษตรกรปลูกสับปะรด ขอความร่วมมือโรงงานแปรรูป-ห้างใหญ่รับซื้อและเชื่อมโยงตลาดไปจังหวัดอื่น ย้ำแก้ไขปัญหาได้แล้ว แนะเกษตรกรและผู้ส่งออกต้องปรับตัวเปลี่ยนการค้าผ่านออนไลน์
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เร่งหาทางช่วยพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทุกพื้นที่ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขณะนี้ไว้แล้ว เช่น ให้พาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดดึงโรงงานแปรรูปเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ และลำปาง ราคารับซื้อหน้าโรงงาน 4.70-5 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมทั้งเชื่อมโยงตลาดเร่งกระจายผลผลิตไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความต้องการสูงจะเป็นการลดปริมาณผลผลิตในพื้นที่มากให้น้อยลง
นอกจากนี้ ยังจะขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ช่วยรับซื้อสับปะรด เพื่อนำไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเริ่มแนวทางลดปริมาณสับปะรดในพื้นที่ต่าง ๆ ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้ปริมาณสับปะรดเริ่มลดลงมาก โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสับปะรดราคาดี ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น ดังนั้น สินค้าเกษตรชนิดอื่นที่จะออกสู่ตลาด ได้แก่ ลำไยภาคเหนือ ลองกองภาคใต้ ซึ่งได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดต่าง ๆ ไปสำรวจปริมาณผลผลิตในแหล่งพื้นที่ว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหนเพื่อจะได้หามาตรการรองรับในช่วงผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดกันได้ต่อไป
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังได้มากล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เจาะตลาดผลไม้ไทยออนไลน์ไปจีน” จัดโดยสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีผู้ส่งออกและเกษตรกรจำนวนมากรับฟังการสัมมนาดังกล่าว โดยการค้าปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งได้นำระบบการค้าผ่านออนไลน์จำนวนมาก เห็นได้ประเทศจีนมีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยปีที่ผ่านมาสูงถึง 402,600 ตัน คิดเป็นมูลค่า 17,469 ล้านบาท โดยจีนขนส่งทุเรียนทั้งทางเรือและทางบก จากนั้นนำไปขายส่งและขายปลีกทางออนไลน์ ประกอบกับจีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือจำนวนมากถึง 695 ล้านคน ทำให้ตลาดค้าปลีกผลไม้ในจีนเปลี่ยนรูปแบบอย่างสิ้นเชิง เห็นได้ชัดปีนี้เป็นปีแห่งผลไม้ทุเรียนไทยราคาเฉลี่ยออกจากสวนอยู่ที่ 60-120 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากเป็นสินค้าอยู่ในกลุ่มสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ คุณภาพสูงจะมีราคาสูงถึง 200-300 บาทต่อกิโลกรัม และหากขึ้นห้างสรรพสินค้าต่อลูกมีราคาสูงถึง 2,000-3,000 บาทและบางพื้นที่ก็สูงกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกการค้าเปลี่ยนไปการสั่งซื้อและมีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงมียุทธศาสตร์สำคัญที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนการค้าในรูปแบบเดิม ๆ จากในอดีตมาเป็นการค้าขายผ่านออนไลน์ที่จะเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการค้าของภาคเอกชนไทยได้อย่างมาก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงและปรับปรุงให้เอกชนไทยและเกษตรกรไทยเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงการค้าโลกแบบยุคดิจิทัลแบบโลกไร้พรมแดนกันได้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย