ทำเนียบฯ 11 เม.ย. – รัฐบาลเดินหน้าแผนพัฒนาสับปะรด 2566-70 หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตและแปรรูปสับปะรดครบวงจร เพิ่มรายได้เกษตรกร ร้อยละ 5 ต่อปี ยอมรับพื้นที่ปลูกลดลง หลังเผชิญปัญหาต้นทุนปุ๋ยแพง ขาดแคลนแรงงาน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรด 2566-2570 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ เสนอร่างแผนพัฒนาด้านสับปะรด หวังเป็นศูนย์กลางระดับโลกในการผลิต แปรรูป และสร้างคุณค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากสับปะรดอย่างยั่งยืน มุ่งสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาวิจัยและสายพันธุ์ การบริหารโซนนิ่งเกษตร การจัดการระบบโลจิสติกส์ การส่งเสริมการสร้างสรรค์วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิต การแปรรูป และการตลาด
กำหนดพื้นที่ปลูกเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 1,000 ไร่/ปี เพิ่มผลิตภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 23,700 ล้านบาท) การสร้างรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี (จากปี 2565 จำนวน 330,700 บาท) สถานการณ์สับปะรดโรงงานในปี 2566 คาดว่ามีผลผลิตรวม 1.65 ล้านตัน เนื้อที่เพาะปลูก 430,958 ไร่ ลดลงจากปี 2565 เนื่องจากเกษตรกรลดพื้นที่เพาะปลูกลง เพราะปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยและสารเคมี และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
สำหรับผลผลิตสับปะรดในปี 2566 ร้อยละ 72 ของผลผลิตทั้งหมด ถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ และผลผลิตร้อยละ 28 ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกสับปะรดปี 2565 ไทยส่งออกสับปะรดในรูปแบบผลิตภัณฑ์รวม 512,574 ตัน มูลค่า 23,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 12.14 นับว่าไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องมากที่สุด ได้แก่ ตลาดสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมนี ในปี 2566 ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แบ่งเป็น 1. สับปะรดส่งเข้าโรงงาน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 7.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ราคากิโลกรัมละ 6.50 บาท) 2. สับปะรดใช้บริโภค เฉลี่ยกิโลกรัมละ 11.14 บาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 กิโลกรัมละ 10.06 บาท).-สำนักข่าวไทย