แม่ฮ่องสอน 5 ส.ค.-น้ำหลากศูนย์อพยพสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เสียหายเกือบ 60 หลัง ชาวบ้านในพื้นที่วิตกหวั่นน้ำป่าหลากถล่มซ้ำ
กว่า 5 วัน จากเหตุการณ์สถานการณ์ภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งการเข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยต้องเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีต้นไม้หักโค่น ดินสไลด์ เสาไฟล้มหลายจุด ทุกหน่วยงานได้ระดมกำลังและเครื่องจักรในการเปิดเส้นทาง ซึ่งสามารถเปิดเส้นทางได้แล้วและเร่งลำเลียงสิ่งของข้าวสารและอาหารแห้งเข้าไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัย แต่ตลอดเส้นทางก็ยังมีบางจุดมีการสไลด์ของดินเป็นช่วงๆ เนื่องจากยังมีฝนตกเป็นระยะ ซึ่งทางหลวงชนบทได้นำเครื่องจักรเข้าพื้นที่ช่วยเหลือเปิดเส้นทาง ยกเว้นเส้นทางเข้าพื้นที่บ้านทิยาเพอ อยู่ระหว่างการใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ขนย้ายและทำการระเบิดหินขนาดใหญ่ที่กีดขวางการจราจร ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในวันนี้
นอกจากนี้เย็นวานนี้ยังได้เกิดเหตุอุทกภัย ดินโคลนถล่มในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง และบ้านแม่ละอูน บ้านเรือนเสียหายจำนวน 59 หลัง คณะกรรมการผู้ลี้ภัยจำนวน 2 หลังเสียหายบางส่วน เบื้องต้น ได้แจ้งผู้หนีภัยจากการสู้รบที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง อพยพไปอยู่ ณ สถานที่ที่ปลอดภัย (บ้านญาติ, โรงเรียน)
มีรายงานว่าตอนนี้ สภาพจิตใจของราษฎรในพื้นที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะคนที่ต้องสูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียทรัพย์สิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัย หลายคนมีอาการเหมอลอย ซีมเศร้า กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบตั้งตัวไม่ทัน
ที่พื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก พายุฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดหนึ่งสัปดาห์และตกแบบมาราธอนครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ 5 อำเภอ ทำให้แม่น้ำเมยที่กั้นพรมแดนไทย-เมียนมา มีระดับเพิ่มสูงจนถึงจุดสีแดงเตือนภัยกระแสน้ำเมยที่ไหลอย่างเชี่ยวกราก กัดเซาะดินริมตลิ่ง บ้านเรือนประชาชนพังทลายเป็นแนวยาว โดยเฉพาะที่บริเวณท้ายหมู่บ้านแม่กุใหม่ท่าซุง อ.แม่สอด เช้าวันนี้ได้รับผลกระทบหนักสุด ดินแนวตลิ่งริมแม่น้ำเมยถูกแม่น้ำเมยกัดเซาะอย่างหนัก ซึ่งพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นแนวโค้งของแม่น้ำและเป็นพื้นที่สุดเขตประเทศไทย
บ้านที่ได้รับผลกระทบน่าหวาดเสียวที่สุดคือท้ายบ้านนางบุญยัง ด้านหลังบ้านถูกกระแสน้ำเมยกัดเซาะดินพังทลายลงอย่างต่อเนื่องและห่างจากตัวบ้านไม่ถึง 10 เมตรแล้ว เจ้าของบ้านขวัญผวาไม่กล้านอนในบ้าน เนื่องจากเสียงน้ำเมยที่กัดเซาะแนวตลิ่งและเสียงน้ำที่ไหลแรงมากจนเกิดความเครียด
ขณะที่ จนท.และชาวบ้านลงแขกขนกระสอบทรายและไม้หลักมาช่วยกันสร้างแนวป้องกันดินริมตลิ่งพังทลาย ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวทางปกครองในท้องถิ่นจะสร้างแนวหินป้องกันตลิ่ง.-สำนักข่าวไทย