27 ก.ย. – ผู้ว่าฯ อ่างทอง ขึ้นป้ายประกาศสีแดง เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง รับมือน้ำหลาก พร้อมเสริมเครื่องสูบน้ำตลอดแนวศูนย์ราชการและพื้นที่เศรษฐกิจ
นายพิริยะ ฉันทดิลก ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ขึ้นป้ายประกาศสีแดง แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่หลังขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ในอัตราไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที วันพรุ่งนี้ (28 ก.ย) ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 1.00-1.50 เมตร ให้ประชาชนพื้นที่เสี่ยงติดตามข่าวสารและเกาะติดสถานการณ์ พร้อมประสานสำนักชลประทานที่ 12 และกรมโยธาธิการและผังเมือง นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งตลอดแนวถนนเทศบาล 1 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการและโรงพยาบาลอ่างทอง และฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนอำเภอต่างๆ ให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากได้รับผลกระทบและต้องการความช่วยเหลือ สามารถแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์สายด่วน 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
บ่ายนี้เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำ
ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท เมื่อ 06.00 น.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2. จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 1,930 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 84 ลบ.ม./วินาที น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท มีปริมาณ 2,164 ลบ.ม./วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 188 ลบ.ม./วินาที น้ำระบายท้ายเขื่อน 1,699 ลบ.ม./วินาที
ระดับน้ำเหนือเขื่อน ที่ อ.เมืองชัยนาท สูงขึ้นจากเมื่อวาน 3 เซนติเมตร ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อน ที่ อ.สรรพยา สูงขึ้นจากเมื่อวาน 70 เซนติเมตร
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า วันนี้เขื่อนเจ้าพระยาจะทยอยเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อนแบบขั้นบันได จากอัตรา 1,699 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 1,800 ลบ.ม./วินาที ในเวลา 15.00 น. ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อน ตั้งแต่ จ.ชัยนาท ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 30 เซนติเมตร จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำที่จะสูงขึ้นอีก
กรมชลฯ ระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มอีก
ขณะที่กรมชลประทาน รายงานสถานการ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาวันนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำเพิ่มจากเมื่อวาน 22 เซนติเมตร แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 3.07 เมตร ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่ง 2.82 เมตร ปัจจุบันมีฝนตกทางพื้นที่ตอนบนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ กรมชลประทานจึงทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้ .-สำนักข่าวไทย