กรุงเทพฯ 27 ก.ค.-ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทย เผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือน ปี66 พุ่ง 11.5% สูงถึง 559,000 บาทต่อครัวเรือน โดยมาจากผลกระทบต่อเนื่องทั้งโควิดและความซบเซาด้านเศรษฐกิจ มองปีหน้ายังมีโอกาสสูงกว่าปีนี้ได้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึง ผลสำรวจ “สถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2566” จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาระหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงสงครามการค้าและถูกซ้ำเติมด้วยโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ที่ตกต่ำลง จำเป็นต้องมีการก่อหนี้ เพื่อใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะคน Gen Y และ Gen Z มีการใช้เงินล่วงหน้ามากขึ้น โดยไม่มีการวางแผน และเมื่อรายได้รวมถึงเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาด จึงส่งผลกระทบต่อภาวะหนี้ที่สูงขึ้น โดยในปี 2566 นี้ หนี้ครัวเรือนไทย ขยายตัวร้อยละ 11.5 คิดเป็นมูลค่าหนี้ 559,408 บาทต่อครัวเรือน โดยร้อยละ 80.2 เป็นหนี้ในระบบ และร้อยละ 19.8 เป็นหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ คาดว่า ยอดหนี้จะพุ่งสูงสุด ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 นี้ ยังไม่แน่นอน จึงทำให้ยังไม่มี เงินเพียงพอชำระหนี้และอาจต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อประคองตัว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเวลานี้เติบโตแบบ K-Shaped ในช่วงที่การส่งออกดีแต่การท่องเที่ยวกลับได้รับผลกระทบ และในช่วงที่การท่องเที่ยวเริ่มผ่อนคลายขึ้น การส่งออกกลับทรุดตัวลงเนื่องจากปัจจัยภายนอกจากภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุน กดดันภาวะเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวนั้น อยากให้มีการพิจารณาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้ความรู้ในการบริหารจัดการหนี้ การบริหารค่าใช้จ่าย และเพิ่มการคัดกรองที่ดีขึ้นของสถาบันการเงินเพื่อลดปัญหาการสร้างหนี้เพิ่มเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย