29 พฤศจิกายน 2567
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีน DTaP เผยแพร่ทาง Instagram ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าวัคซีนรวมเพื่อป้องกันโรคคอตีบ โรคไอกรน และโรคบาดทะยัก ไม่ควรนำมาฉีดให้ทารก เพราะไม่มีความจำเป็น โดยอ้างว่าสัดส่วนการเสียชีวิตจากโรคไอกรนลดลงตั้งแต่ก่อนการผลิตวัคซีน DTaP และสัดส่วนการพบเด็กป่วยด้วยโรคคอตีบในปัจจุบันก็น้อยมาก นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีน
บทสรุป :
- แม้ยอดการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ จะลดลงก่อนการผลิตวัคซีน แต่วัคซีนช่วยให้การระบาดของโรคลดลง
- ภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อโรคคอตีบและโรคไอกรน อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
- การติดเชื้อโรคบาดทะยัก ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
วัคซีน DTaP ช่วยลดการติดเชื้อโรคไอกรนได้จริง
กราฟที่แสดงการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ก่อนการผลิตวัคซีนในสหรัฐอเมริกา ทั้ง โรคคอตีบ และ โรคไอกรน เป็นข้อมูลที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ healthsentinel.com ซึ่งมีประวัติเผยแพร่เนื้อหาด้านสุขภาพด้วยข้อมูลที่น่าสงสัยในความถูกต้อง
นอกจากเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือแล้ว การนำยอดการเสียชีวิตที่ลดลงก่อนการผลิตวัคซีน มาด้อยค่าวัคซีน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะจุดประสงค์หลักของวัคซีน นอกจากลดโอกาสการเสียชีวิตแล้ว ยังลดโอกาสการติดเชื้อและป่วยจากโรคดังกล่าวอีกด้วย
เดวิด กอร์สกี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ชี้แจงว่า การลดลงของยอดผู้เสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ยังมีปัจจัยจากการพัฒนาแนวทางการรักษาแบบบรรเทาอาการที่ดีขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น การคิดค้น Iron lung อุปกรณ์กระตุ้นการหายใจสำหรับผู้ป่วยเด็กที่เป็นอัมพาตจากการติดเชื้อโปลิโอ มีส่วนช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กที่ป่วยด้วยโรคโปลิโอที่แพร่ระบาดในช่วงทศวรรษที่ 1940s และ 1950s อย่างมาก
อย่างไรก็ดี Iron Lung ช่วยให้ผู้ป่วยโปลิโอบางส่วนไม่เสียชีวิต แต่วัคซีนโปลิโอคือปัจจัยที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคโปลิโอลดลงอย่างมาก
เช่นเดียวกับการมาถึงของวัคซีน DTP หรือวัคซีนรวมสูตรต้นตำรับเพื่อป้องกันโรคคอตีบ โรคไอกรน และบาดทะยัก เมื่อถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 1940s ส่งผลให้ยอดการติดเชื้อโรคไอกรนในสหรัฐฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในช่วงแรกที่วัคซีน DTP ถูกนำออกมาใช้ สัดส่วนการป่วยด้วยโรคไอกรนในสหรัฐฯ สูงกว่า 100,000 รายต่อปี จนถึงปี 1965 ยอดผู้ป่วยโรคไอกรนลดลงไม่ถึง 10,000 รายต่อปี
ผู้ป่วยโรคคอตีบลดลงเพราะวัคซีน
ในโพสต์อ้างว่า การฉีดวัคซีน DTaP ไม่มีความจำเป็นต่อการป้องกันโรคคอตีบ เพราะครั้งสุดท้ายที่พบผู้ป่วยโรคคอตีบในสหรัฐฯ คือ ปี 2003 และมีสัดส่วนการติดเชื้อตั้งแต่ปี 1980 เพียง 0-5 รายต่อประชากร 100,000 รายเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวอ้างมาจากหน่วยงานที่มีชื่อว่า National Vaccine Information Center ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงทศวรรษที่ 1940s โรคคอตีบคือสาเหตุการเสียชีวิตหลักของทารกอเมริกัน จนกระทั่งการคิดค้นวัคซีน DTaP ในทศวรรษที่ 1940s ทำให้ยอดการเสียชีวิตลดลงอย่างมาก
สาเหตุที่โรคคอตีบเป็นโรคที่พบได้ยากในปัจจุบัน มาจากอานิสงส์ของการฉีดวัคซีน DTP หรือ DTaP ที่เป็นไปอย่างทั่วถึง จนแทบจะไม่มีการแพร่ระบาดของโรคคอตีบนประเทศที่ฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอ
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า ในทศวรรษที่ 1990s พบผู้ป่วยโรคคอตีบไม่ถึง 1 รายต่อปี เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยพบว่า 93% ของทารกอเมริกันได้รับวัคซีน DTaP จำนวน 3 โดสจาก 4 โดสที่แนะนำ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังพบว่า ในภูมิภาคที่การฉีดวัคซีนไม่ทั่วถึง จะพบการระบาดของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคคอตีบ และ โรคหัด
ภูมิธรรมชาติจากการติดเชื้อเป็นอันตราย
แม้ปัจจุบันจะไม่ค่อยพบผู้เสียชีวิตเพราะโรคคอตีบ โรคไอกรน และบาดทะยัก แต่การปล่อยให้ติดเชื้อและป่วยด้วยโรคดังกล่าว เพื่อหวังได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วย
ผู้ป่วยโรคไอกรนจะมีน้ำมูกปริมาณมาก หากปิดกั้นหลอดลมจะก่อให้เกิดการไอที่ถี่และรุนแรง ในรายที่รุนแรงมาก ๆ อาจทำให้กระดูกซี่โครงหัก ทำให้หลอดเลือดแตก หรือทำให้เป็นไส้เลื่อน พิษจากแบคทีเรียโรคไอกรนอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ อาการชัก และภาวะสมองอักเสบ
โรคคอตีบที่เกิดได้บ่อยจากการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ จะทำให้ไข้ขึ้น เจ็บคอ เกิดเยื่อปิดกั้นหลอดลมก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ พิษจากแบคทีเรียโรคคอตีบยังก่อให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเส้นประสาทอักเสบ
โรคบาดทะยัก ทำให้ผู้ติดเชื้อกลืนอาหารลำบาก จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ และนำไปสู่การชัก ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้กระดูกหักได้
มีเคสของเด็กชายชาวอเมริกันรัฐโอเรกอนเมื่อปี 2019 ที่ติดเชื้อบาดทะยักจากการถูกของมีคมบาดโดยที่ตัวเองไม่มีภูมิคุ้มกัน เขาต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 57 วัน โดยใช้เวลาอยู่ในห้องฉุกเฉิน 40 วัน และต้องเข้ารับการบำบัดเป็นเวลานานกว่าจะกลับมาเดินได้อีกครั้ง
โรคบาดทะยัก ยังแตกต่างจากโรคชนิดอื่น ๆ ที่การติดเชื้อไม่ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรค เนื่องจากพิษจากแบคทีเรียโรคบาดทะยักที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ มีปริมาณน้อยเกินกว่าจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น ภูมิคุ้มกันจากโรคบาดทะยักจึงหาได้จากการฉีดวัคซีนเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.politifact.com/factchecks/2022/oct/24/instagram-posts/dtap-vaccine-safe-and-effective/
https://healthfeedback.org/claimreview/dtap-vaccine-isnt-associated-sudden-infant-death-syndrome-whooping-cough-vaccine-historic-decline-cases/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter