ลำปาง 9 ก.ค.- ผอ. สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ เผยสุขภาพ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เป็นปกติ ไม่พบโรคติดต่อใดๆ โดยยังคงเฝ้าระวังโรคตามระเบียบการกักโรคของกรมปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ปรับตัวเข้ากับควาญได้ดีตามลำดับ ยอมรับให้ควาญช้างสัมผัสตัวและขึ้นบนคอได้ในบางเวลา เริ่มคุ้นเคยกับเสียงควาญช้างและเข้าใจความหมายคำพูดสั้นๆ
นายสุรัตน์ชัย อินทรวิเศษ ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) กล่าวว่า “พลายศักดิ์สุรินทร์” เข้าสู่กระบวนการกักโรคตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ 7 วันแล้ว โดยคณะสัตวแพทย์รายงานสุขภาพและพฤติกรรมของช้างตั้งแต่วันที่ 2-9 กรกฎาคมว่า กินอาหารเฉลี่ยวันละ 120-200 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวกหญ้าสด โดยเสริมผลไม้ มะขามเปียก และเกลือในระหว่างมื้อ ดื่มน้ำจากสายยางได้ดี ขับถ่ายเป็นปกติ โดยเฉลี่ย 11-12 ครั้ง ครั้งละ 4-8 ก้อน ลักษณะก้อนมูลปกติ มีการย่อยอาหารปกติ ไม่มีกลิ่นเหม็นคาวหรือมีเศษเมือกปะปน ส่วนการนอนหลับพักผ่อนอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ นอนครั้งละ 1-3 ชั่วโมง เฉลี่ยคืนละ 2 ครั้ง
สำหรับผลการให้คะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (body score) อยู่ในระดับคะแนน 3/5 คือ พอดี ไม่ผอมและไม่อ้วน (จากระดับคะแนนคือ 1 ผอมมากถึง 5 คือ อ้วนมาก)
ขณะนี้เริ่มคุ้นเคยกับโทนเสียงของควาญช้างและเข้าใจความหมายคำพูดที่ควาญช้างใช้สื่อสารเป็นคำพูดสั้นๆ ได้ โดยยอมรับให้ควาญช้างสัมผัสตัวและขึ้นบนคอได้ในบางเวลา ทั้งนี้ต้องใช้ต่างฝ่ายต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันสักระยะ แต่ดีขึ้นตามลำดับ
ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการตามที่สัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือด ซีรั่ม เพื่อตรวจวิเคราะห์โรคติดต่อในสัปดาห์ที่ 1 เมื่อแรกที่ “พลายศักดิ์สุรินทร์” เข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังโรคติดต่อตั้งแต่เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบนกรมปศุสัตว์นั้น ปรากฏว่า ไม่พบพยาธิในเลือด (Trypanosoma evans) และไม่พบปรสิตในมูลช้าง ไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรควัณโรค ไม่พบสารพันธุกรรมต่อเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ไม่พบแอนติบอดีต่อโรคฉี่หนู ไม่พบแอนติบอดีแบบ non-structural proteinของเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรคแท้งติดต่อ (Brucella abortus)
ทั้งนี้ในกระบวนการเฝ้าระวังโรคข้างตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ต้องอยู่ภายในพื้นที่ควบคุมอย่างน้อย 30 วันและต้องผ่านการตรวจโรคตามที่ระบุ ต่อไปตามระเบียบการนำเข้าสัตว์ในราชอาณาจักรของกรมปศุสัตว์ ซึ่งสถานบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จะแจ้งผลให้ทราบต่อไป.- สำนักข่าวไทย