30 มิ.ย. – “กรมบัญชีกลาง” ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 กำหนดเฉพาะด้านการกำกับ ติดตามการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน กรมบัญชีกลางยังมีบทบาทอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานทุนหมุนเวียน เพื่อให้มีผลการดำเนินงานสอดคล้องตามเป้าหมายกำหนด และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
กรมบัญชีกลาง ยังกำหนดให้มีกลไกในการยกย่อง เชิดชู ทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานในระดับดีเลิศในด้านต่างๆ ผ่านการมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หรือเป็นเวลานานกว่า 15 ปี “คณะอนุกรรมการตัดสินรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น” ได้มีหน้าที่ในการกำหนดประเภทรางวัล และหลักเกณฑ์การพิจารณาในแต่ละรางวัล ทั้งนี้ในปี 2564 ได้มีการกำหนดรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นทั้งสิ้น 5 รางวัล ประกอบด้วย
(1) รางวัลเกียรติยศ มอบให้แก่ทุนหมุนเวียนที่เคยได้รับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่อง 3 ปี
(2) รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น มอบให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นในทุกด้านๆ เช่น ผลการดำเนินงานด้านการเงิน ผลการดำเนินงานด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลการดำเนินงานเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจหลักของทุนหมุนเวียน ผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการองค์กร เป็นต้น
(3) รางวัลพัฒนาดีเด่น มอบให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานที่มีการพัฒนาอย่างโดดเด่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญต่อการปฏิบัติงานอย่างมุ่งมั่นของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุนหมุนเวียน
(4) รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น มอบให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการองค์กรที่ดี เช่น การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการสารสนเทศและดิจิทัล การบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
(5) รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น มอบให้แก่ผู้บริหารทุนหมุนเวียนที่สามารถผลักดันผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนให้อยู่ในระดับดีมากได้
การมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนากลไกโดยเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และประชาสังคม รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสู่อนาคตวิถีใหม่
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 กรมบัญชีกลางได้จัดงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปีบัญชี 2563 และ 2564 ภายใต้ชื่อ “สานต่อนโยบายรัฐ ต่อยอดเศรษฐกิจ สู่อนาคตวิถีใหม่” ณ ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
โดยคณะอนุกรรมการตัดสินรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ ได้กำหนดกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัล และประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนประจำปีบัญชี 2563 และ 2564 มีทุนหมุนเวียนที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 28 รางวัล ในจำนวนนั้นมี “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” สามารถคว้ารางวัลได้มากที่สุดถึง 3 รางวัล ประกอบด้วย
1.รางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการดีเด่น ประจำปีบัญชี 2563
2.รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปีบัญชี 2563
และ 3. รางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น ประจำปีบัญชี 2564
“รางวัลที่ได้รับถือเป็นเกียรติยศ และความภาคภูมิใจของ กยศ. ที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์”
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ และสร้างอนาคตให้คนไทยอย่างยั่งยืน ด้วยระบบบริหารจัดการที่ดีและทันสมัย ซึ่งรางวัลที่ได้รับถือเป็นเกียรติยศ และความภาคภูมิใจของ กยศ. ที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
“ครั้งแรกที่ผมรู้จักกับรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ต้องย้อนไปเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่ผมได้รับตำแหน่งผู้จัดการ กยศ. และได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นในปี พ.ศ.2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พอเห็นคนอื่นได้รับรางวัล ก็มีความรู้สึกว่า ทำไมเราไม่ได้ ทั้งๆ ที่ กยศ. เป็นทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ มีสินทรัพย์มูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มทุนหมุนเวียน จากวันนั้นจึงเป็นแรงผลักดัน ทำให้เราได้ทบทวนว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้การบริหารกองทุนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนจึงทำให้มีวันนี้ แม้ว่า กยศ. จะมีข่าวในเชิงลบออกมาหลายครั้ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นของกองทุนฯ ที่จะเป็นหลักประกันให้ทุกครอบครัวว่าน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนสามารถกู้เงินได้ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว
ผู้จัดการ กยศ. ยังกล่าวอีกว่า รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2563 และ 2564 ที่ กยศ. คว้ามาได้ถึง 3 รางวัล นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาว กยศ. เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล มีการบริหารจัดการการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน จนสามารถผ่านตัวชี้วัด ผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ จนนำมาซึ่งรางวัลเหล่านี้
และแม้ว่าจะมีรางวัลเป็นเครื่องยืนยันประสิทธิภาพการดำเนินงาน แต่กองทุนฯ ก็จะไม่หยุดนิ่ง มุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยสู่อนาคตวิถีใหม่
จากตัวอย่างของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แสดงให้เห็นว่ารางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยในการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานแก่กรรมการบริหารทุนหมุนเวียน ผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรปฏิบัติงาน เพื่อร่วมปฏิบัติงานและผลักดันให้ทุนหมุนเวียนมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรฐกิจและสังคมของประเทศไทยเติบโตให้อย่างยั่งยืน.