กรุงเทพ 29 มิ.ย.-กรมเจ้าท่าจัดประชุมชี้แจงเรื่องเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือซึ่งจากผลการศึกษาทำเลที่ตั้งท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบนพบว่า บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา ชลบุรี เป็นทำเลที่มีศักยภาพมากที่สุด
นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า เป็นประธานการประชุมชี้แจงเรื่องเทคนิคและรูปแบบท่าเทียบเรือ โครงการศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ซึ่งผลการศึกษาทำเลที่ตั้งของเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน พบว่า บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา ชลบุรี เป็นทำเลที่มีศักยภาพมากที่สุด เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้คราวละมากๆ และที่สำคัญคือทะเลมีความลึกเพียงพอที่จะรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังท่าเรือต้นทางและท่าเรือแวะพักอื่นๆได้ ในปัจจุบันไทยเรามีท่าเรือสำราญเพียง 2 ท่า คือ ท่าเรือกรุงเทพ และ ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมามีเรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยถึงปีละ 500 เที่ยว
ทั้งนี้นอกจากท่าเรือแหลมบาลีฮายแล้ว กรมเจ้าท่า กำลังศึกษาท่าเทียบเรือสำราญอีก 3 แห่ง คือ ที่เกาะสมุย อ่าวไทยตอนบน และ ฝั่งอันดามันที่จ.กระบี่
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประเภทของท่าเรือเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณอ่าวไทยตอนบน พบว่า การพัฒนาท่าเรือสำราญนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.ท่าเรือต้นทาง รองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง 2.ท่าเรือแวะพัก รองรับผู้โดยสารได้ 3,500-4,500 คนต่อชั่วโมง และ 3.ท่าเรือผสม คือ เป็นทั้งท่าเรือต้นทางและท่าเรือแวะพัก ซึ่งพบว่า ท่าเรือสำราญพัทยา มีความเหมาะสมที่จะเป็นท่าเรือผสม
สำหรับท่าเรือแวะพักนั้น จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดเรื่องที่จอดรถ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงทางบกไปเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น กรุงเทพ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการและบริเวณรอบเมืองพัทยาเป็นต้น
ทั้งนี้ การก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ จะต้องนำเสนอเรื่องผลกระทบระหว่างก่อสร้าง ก่อนจะนำเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติต่อไป คาดว่า การก่อสร้างจะเริ่มต้นได้ใน 3 ปี นับจากนี้.-สำนักข่าวไทย