กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – อธิบดีกรมการข้าวแนะชาวนาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อลดการใช้ รองรับสภาวะเอลนีโญ ทั้งยังสามารถขายคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวเปิดเผยว่า ได้เร่งแนะนำเกษตรกรที่จะเพาะปลูกข้าวนาปีให้ทำนาด้วยวิธีเปียกสลับแห้งซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา แต่รับน้ำเข้าแปลงเฉพาะช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมาก ทำให้เป็นการลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนา เพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญ
สำหรับการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้ง สลับกันไป ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เนื่องจากดินและรากได้รับอากาศ เมื่อได้รับอากาศ จะสามารถดูดปุ๋ยได้ดีขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย เมื่อดูดอาหารได้ดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วย เมื่อต้นข้าวแข็งแรงก็จะแตกกอได้มากขึ้น รวงข้าวสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้รับก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย การทำนาแบบเปียกสลับแห้งนี้ เหมาะสำหรับพื้นที่ทำนาในเขตชลประทาน ที่ควบคุมการระบายน้ำได้ โดยใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าวิธีปลูกข้าวแบบทั่วไป 30-50% นอกจากนี้ยังลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุแบบไร้อากาศเมื่อปลูกข้าวแบบขังน้ำเป็นเวลานานอีกด้วย
ทั้งนี้ประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งอีกประการคือ การขายคาร์บอนเครดิต สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชี T-VER credit กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.ฉ และซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ดังนั้นการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจึงให้ประโยชน์ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิตเช่น ค่าสูบน้ำเข้านา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย เป็นต้น ขณะเดียวกันจะมีรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิต
อธิบดีกรมการข้าวกล่าวย้ำว่า สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ หลายพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มเพาะปลูกควรรอให้ฝนตกสม่ำเสมอก่อนจึงค่อยเตรียมแปลงเพื่อลดความเสี่ยงที่ข้าวจะเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนให้สำรองน้ำไว้ใช้สำหรับช่วงที่ฝนตกน้อยด้วย.-สำนักข่าวไทย