15 มิถุนายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
หนึ่งในประเด็นที่สร้างข้อถกเถียงในวงการกีฬามากที่สุดช่วงปีที่ผ่านมา คือคำถามเรื่องความเหมาะสมของการอนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศ (Transgender) สามารถแข่งขันกีฬากับผู้ที่อัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับเพศกำเนิด (Cisgender) โดยเฉพาะกรณีเรื่องความได้เปรียบทางสรีระของนักกีฬาสตรีข้ามเพศ (Trans Woman) หรือชายที่แปลงเพศเป็นหญิง เมื่อเปรียบเทียบกับนักกีฬาหญิงทั่วไป
กรณีที่จุดประเด็นไปทั่วโลก เกิดขึ้นเมื่อปี 2022 เมื่อ ลีอา โทมัส นักกีฬาว่ายน้ำของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาข้ามเพศคนแรกที่คว้าชัยชนะในการแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาหรือ NCAA Division I หลังจากคว้าชัยในรายการว่ายน้ำฟรีสไตล์ 500 เมตรหญิง โดยเอาชนะ เอ็มมา ไวแยนต์ เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 2021 ที่เข้ามาเป็นที่ 2 ได้สำเร็จ และเข้ามาเป็นที่ 5 ร่วมในการแข่งขันว่ายน้ำฟรีสไตล์ 200 เมตรหญิง
อย่างไรก็ดี ก่อนเข้ารับการแปลงเพศ ลีอา โทมัส เคยลงแข่งให้กับทีมนักว่ายน้ำชายของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียระหว่างปี 2017 ถึง 2020 มาก่อน การหันมาแข่งในกับนักว่ายน้ำหญิง ทำให้อันดับของเขาขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว ในประเภทฟรีสไตล์ 500 เมตร เพิ่มจากอันดับที่ 65 ในกลุ่มนักว่ายน้ำชายมาเป็นที่ 1 ในกลุ่มนักว่ายน้ำหญิง ส่วนประเภทฟรีสไตล์ 200 เมตร เพิ่มจากอันดับที่ 554 ในกลุ่มนักว่ายน้ำชายมาเป็นที่ 5 ในกลุ่มนักว่ายน้ำหญิง
ปลายเดือนมีนาคม 2023 เกิดข้อโต้แย้งเมื่อนักวิ่งสตรีข้ามเพศ 2 ราย ได้แก่ อาธีน่า ไรอัน และ โลเรลไล บาร์เรทท์ ผ่านการคัดตัวในการแข่งขันวิ่ง 1,600 เมตรหญิง ระหว่างโรงเรียนไฮสคูลในแต่ละเขตของรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อหาตัวแทน 3 รายไปแข่งขันรอบสุดท้ายในระดับรัฐ โดยทั้งสองเข้ามาเป็นที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
การให้สิทธิ อาธีน่า ไรอัน และ โลเรลไล บาร์เรทท์ ลงแข่งขันกับนักเรียนหญิง สร้างเสียงวิจารณ์ไม่น้อย เพราะทั้งสองเคยแข่งวิ่งแข่งกับนักเรียนชายก่อนการแปลงเพศทั้งคู่
มีการนำเวลาที่ทั้งสองทำได้ในการแข่งขันกับเด็กผู้หญิงไปเทียบกับการแข่งขันของเด็กผู้ชายในสนามเดียวกัน ปรากฏว่าทั้งคู่จะเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายหากลงแข่งกับเด็กผู้ชาย
ทั้งสองเหตุการณ์สร้างข้อโต้เถียงในวงการกีฬาของสหรัฐอเมริกา เมื่อการเปิดโอกาสให้นักกีฬาสตรีข้ามเพศแข่งกับนักกีฬาหญิง ถูกมองว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของนักกีฬาหญิง แม้แต่ เคทลิน เจนเนอร์ สตรีข้ามเพศ ผู้คว้าเหรียญทองโอลิมปิกปี 1976 จากกีฬาทศกรีฑาสมัยที่ยังไม่แปลงเพศ ก็มองว่า การให้สตรีข้ามเพศมาแข่งกับผู้หญิง เป็นการทำลายความยุติธรรมในวงการกีฬาหญิงอย่างร้ายแรง
ที่น่าสนใจก็คือ กฎหมายที่ช่วยให้สตรีข้ามเพศสามารถแข่งขันกีฬากับผู้หญิงในสหรัฐอเมริกาได้ปัจจุบัน เป็นผลมาจากการออกกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิการเข้าถึงกีฬาอย่างเท่าเทียมของเยาวชนเพศหญิง สหรัฐอเมริกาบังคับใช้เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
กฎหมาย Title IX
กฎหมายดังกล่าวเป็นรู้จักในชื่อ Title IX เป็นกฎหมายมนุษยชนที่มีผลบังคับใช้ในปี 1972 ซึ่งบังคับให้สถานที่ศึกษาที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง ห้ามออกนโยบายกีดกันทางเพศในโรงเรียน รวมถึงการเปิดโอกาสให้นักเรียนหญิงเข้าถึงกิจกรรมด้านกีฬาอย่างเท่าเทียมกับนักเรียนชาย
ผ่านมาครึ่งศตวรรษ กฎหมาย Title IX ได้รับการยกย่องว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการกีฬาของเยาวชนหญิงอเมริกัน และช่วยยกระดับวงการกีฬาหญิงอย่างแท้จริง
ข้อมูลจากเว็บไซต์ TED-Ed ระบุว่าในปี 1972 มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนนักกีฬาหญิงเพียง 15% และมีนักกีฬาหญิงในระดับไฮสคูลเพียง 7% เท่านั้น
แต่ผลวิจัยเมื่อปี 2006 พบว่าผลจาก Title IX ทำให้มีนักกีฬาหญิงในระดับไฮสคูลเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า และมีนักกีฬาหญิงในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นถึง 450%
ข้อมูลจาก Richard Nixon Foundation พบว่าในปี 2014 มีนักกีฬาหญิงร่วมแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกากว่า 2 แสนคน ส่วนปี 2015 พบว่ามีนักกีฬาหญิงร่วมแข่งขันกีฬาระดับไฮสคูลในสหรัฐอเมริกากว่า 3.2 แสนคน
กีฬาที่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมาย Title IX มากที่สุดคือกีฬาฟุตบอล เมื่อพบว่าสัดส่วนนักกีฬาหญิงในกีฬาฟุตบอลทั้งระดับไฮสคูลและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลต่อการพัฒนานักกีฬาระดับทีมชาติ และมีส่วนทำให้ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกากลายเป็นทีมชั้นนำของโลก ครองอันดับ 1 จากการจัดอันดับ FIFA ranking อย่างยาวนานตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2017 จนถึงปัจจุบัน ด้วยสถิติคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 4 สมัยและแชมป์โลก 4 สมัย
กระทั่งมาถึงสมัยรัฐบาลของ บารัค โอบามา ผู้นำของพรรคเดโมแครต ที่ขยายขอบเขตความเท่าเทียมทางเพศของกฎหมาย Title IX ให้ครอบคลุมถึงเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยให้สถานศึกษาปฏิบัติต่อนักเรียนตามอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ของนักเรียนคนนั้น ๆ เช่น นักเรียนหญิงที่ยืนยันว่าตนเองมีเพศสภาพเป็นบุรุษข้ามเพศ สามารถเข้าเรียนในชั้นที่มีแต่นักเรียนชายได้ ส่วนนักเรียนชายที่ยืนยันว่าตนเองมีเพศสภาพเป็นสตรีข้ามเพศ สามารถเข้าเรียนในชั้นที่มีแต่นักเรียนหญิงได้
แต่เมื่อถึงสมัยที่ โดนัล ทรัมป์ ผู้นำของพรรครีพับลิกันครองอำนาจในปี 2017 ได้มีการยกเลิกข้อกำหนดของกฎหมาย Title IX เรื่องการปฏิบัติต่อนักเรียนตามอัตลักษณ์ทางเพศหลายอย่าง เช่น ไม่อนุญาตให้นักเรียนใช้ห้องน้ำโรงเรียนตามอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) แต่ต้องยึดตามเพศกำเนิด (Sexuality) เป็นหลัก
กระแสการต่อต้านนักกีฬาสตรีข้ามเพศ ภายใต้การกดดันของนักการเมืองอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้ปัจจุบันมีนักกีฬาสตรีข้ามเพศถูกห้ามแข่งขันกีฬาใน 20 รัฐ
ความเห็นต่างทางการเมือง
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาได้รับรองกฎหมาย ห้ามไม่ให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกลาง อนุญาตให้นักกีฬาข้ามเพศที่ได้รับการระบุเพศตอนเกิดว่าเป็นผู้ชาย แข่งขันกีฬากับนักเรียนหญิง ด้วยคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบ 219 เสียง และไม่เห็นชอบ 203 เสียง โดยผู้โหวตเห็นชอบทั้งหมดคือส.ส. ฝั่งรีพับลิกันที่ผลักดันกฎหมาย ส่วนผู้โหวตไม่เห็นชอบทั้งหมดมาจากส.ส. เดโมแครตที่คัดค้านกฎหมาย
ส.ส. ฝั่งรีพับลิกัน รวมถึงกลุ่มสิทธิสตรีมองว่า ผลโหวตคือความสำเร็จของการดำรงความยุติธรรมในวงการกีฬาหญิง
ส่วนส.ส. ฝั่งเดโมแครต มองว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นการขัดขวางเยาวชนเพศทางเลือกจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทักษะด้านการเข้าสังคมและการทำงานเป็นทีมของเด็ก ๆ โดยย้ำว่าจำนวนนักกีฬาระดับเยาวชนที่เป็นคนข้ามเพศมีอยู่น้อยมาก เช่นในรัฐยูทาห์มีนักกีฬาระดับไฮสคูลประมาณ 85,000 คน มีเพียง 4 คนที่เป็นคนข้ามเพศ และมีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ลงแข่งขันในกีฬาของเด็กผู้หญิง กฏหมายดังกล่าวจึงถูกมองจากส.ส. ฝั่งเดโมแครตว่า ไม่ต่างจากการใช้กฎหมายเพื่อรังแกเด็กที่เป็นคนข้ามเพศ
แม้จะได้รับชัยชนะจากการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร แต่กฎหมายฉบับนี้แทบไม่มีโอกาสมีผลบังคับใช้ เนื่องจากวุฒิสภาที่ครองเสียงส่วนใหญ่โดยนักการเมืองฝั่งเดโมแครต ไม่มีทางเห็นชอบกับกฎหมายดังกล่าว ซึ่งทางทำเนียบขาวก็ยืนยันว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมที่จะใช้สิทธิวีโต้กฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
แม้จะรู้ว่ากฎหมายดังกล่าวแทบไม่มีโอกาสมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลของ โจ ไบเดน แต่ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า พรรครีพับลิกันกำลังนำประเด็นสวัสดิภาพในโรงเรียนมาใช้หาเสียงกับเหล่าผู้ปกครอง เพื่อหวังเพิ่มคะแนนนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปีหน้า
นโยบายขององค์กรกีฬา
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC ได้ระบุนโยบายเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและความหลากหลายทางเพศของนักกีฬาโอลิมปิก โดยให้ความสำคัญกับทั้งประเด็นการมีส่วนร่วม (Inclusive) และความยุติธรรม (Fairness) ก่อนลงความเห็นว่า แต่ละองค์กรกีฬาควรกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการได้เปรียบเสียเปรียบของนักกีฬาในแต่ละประเภทด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2023 กรีฑาโลกหรือ World Athletics ได้ปรังปรุงนโยบายเกี่ยวกับนักกีฬาสตรีข้ามเพศ โดยระบุว่านักกีฬาสตรีข้ามเพศจะสามารถแข่งกรีฑาประเภทหญิงได้ ก็ต่อเมื่อนักกีฬาสตรีข้ามเพศรายนั้น ๆ ยุติการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนที่อายุจะเข้าสู่ Stage ที่ 2 ตามมาตรฐานของ Tanner Stages (มีด้วยกัน 5 ระดับ Stage ที่ 1 คือเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ส่วน Stage ที่ 5 คือช่วงที่การเจริญพันธุ์สมบูรณ์) หรือยุติการเจริญพันธุ์ก่อนอายุ 12 ปี
และหลังจากนั้นจะต้องรักษาระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายในซีรัมของเลือดไม่เกิน 2.5 nmol/L ตลอดเวลาที่อยู่ในอาชีพนักกรีฑา จากเดิมที่เคยกำหนดให้ไม่เกิน 5 nmol/L
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีผลต่อการสร้างมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ และระดับของฮีโมโกลบินในเลือด
ปกติผู้ชายจะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนประมาณ 10 – 35 nmol/L ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่เกิน 2.4 nmol/L
การกำหนดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่เกิน 2.5 nmol/L ยังใช้สำหรับนักกีฬาหญิงที่มีความผิดปกติของพัฒนาการระบบอวัยวะเพศหรือ DSD จนมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากกว่าผู้หญิงทั่วไป โดยกำหนดให้นักกีฬาหญิงที่มีอาการ DSD ต้องมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่เกิน 2.5 nmol/L เป็นเวลา 24 เดือนก่อนเข้าร่วมการแข่งขัน
เซบาสเตียน โค ประธานกรีฑาโลกยืนยันว่า การปรับปรุงนโยบายดังกล่าวเพื่อปกป้องความยุติธรรมในวงการกรีฑา ตัวเขาเองให้ความสำคัญกับทั้งการมีส่วนร่วม (Inclusive) และความยุติธรรม (Fairness) แต่ถ้าให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่า เขายอมรับว่าเลือกความยุติธรรมมาเป็นที่ 1
กรีฑาโลกเป็นหนึ่งในหลายองค์กรกีฬาระดับนานาชาติที่ออกนโยบายจำกัดการแข่งขันกีฬาของนักกีฬาสตรีข้ามเพศกับนักกีฬาหญิง โดยปีที่แล้ว กีฬาทางน้ำโลกหรือ World Aquatics และสหภาพจักรยานระหว่างประเทศหรือ UCI ต่างกำหนดให้นักกีฬาสตรีข้ามเพศต้องมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่เกิน 2.5 nmol/L ก่อนอนุญาตให้แข่งกับนักกีฬาหญิงเช่นเดียวกัน ส่วนรักบี้โลกหรือ World Rugby ประกาศห้ามไม่ให้นักกีฬาสตรีข้ามเพศแข่งรักบี้กับนักกีฬาหญิงโดยสิ้นเชิง โดยอ้างประเด็นการได้เปรียบทางสรีระและการป้องกันการบาดเจ็บจากการแข่งขัน
ความเห็นที่แตกต่างในแวดวงวิทยาศาสตร์
- ฝ่ายสนับสนุนให้สตรีข้ามเพศแข่งกับผู้หญิง
แม้องค์กรกีฬาจะยืนยันว่า การออกนโยบายกีดกันนักกีฬาสตรีข้ามเพศจากการแข่งขันกีฬากับผู้หญิงเป็นไปตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่การอ้างเรื่องความได้เปรียบทางสรีระของกีฬาสตรีข้ามเพศกับนักกีฬาหญิงก็ยังเป็นข้อถกเถียงในวงการวิทยาศาสตร์อย่างแพร่หลาย
โจแอนนา ฮาร์เปอร์ นักศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยลัฟโบโร ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นนักกรีฑาสตรีข้ามเพศ และทำงานวิจัยเกี่ยวกับนักกีฬาสตรีข้ามเพศมาอย่างยาวนาน วิจารณ์นโยบายกีดกันนักกีฬาสตรีข้ามเพศกรีฑาโลก เนื่องจากปัจจุบันยังมีงานวิจัยอยู่น้อยมากที่ยืนยันได้ว่านักกีฬาสตรีข้ามเพศมีความได้เปรียบนักกีฬาหญิง เพราะนอกจากกล้ามเนื้อแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของนักกีฬายังรวมถึงปริมาณฮีโมโกลบินในเลือดอีกด้วย
ฮีโมโกลบินจะทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวระหว่างออกกำลังกายและการแข่งขันกีฬา ซึ่งผู้ชายจะมีปริมาณฮีโมโกลบินมากกว่าผู้หญิง
งานวิจัยปี 2021 ที่โจแอนนา ฮาร์เปอร์ทำร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลัฟโบโร พบว่าแม้สตรีข้ามเพศจะยังมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง แต่พบว่าปริมาณฮีโมโกลบินอยู่ในระดับเดียวกับผู้หญิงทั่วไป จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า สตรีข้ามเพศไม่มีความได้เปรียบทางกายเมื่อเทียบกับผู้หญิง
โจแอนนา ฮาร์เปอร์ ย้ำว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีนักกีฬาสตรีข้ามเพศรายใดทำลายสถิติในการแข่งขันกีฬาสำคัญ ๆ ของผู้หญิง แสดงให้เห็นว่าสตรีข้ามเพศไม่มีข้อได้เปรียบทางกายเมื่อเทียบกับผู้หญิง นอกจากนี้การกำหนดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจเป็นปัญหาสำหรับนักกีฬาสตรีข้ามเพศที่เป็นเยาวชน เนื่องจากแต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเข้ารับบำบัดด้วยฮอร์โมนไม่เหมือนกัน
ความเห็นที่แตกต่างในแวดวงวิทยาศาสตร์
- ฝ่ายคัดค้านไม่ให้สตรีข้ามเพศแข่งกับผู้หญิง
อย่างไรก็ดี งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี 2022 ซึ่งเผยแพร่โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIH) ยืนยันว่า นักกีฬาสตรีข้ามเพศที่ผ่านการบำบัดด้วยฮอร์โมนแล้ว ก็ยังมีข้อได้เปรียบด้านสรีระเหนือกว่านักกีฬาหญิงเช่นเดิม เนื่องจากอิทธิพลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายของผู้ชายช่วงที่เริ่มโตเป็นหนุ่มเท่านั้น แต่เริ่มมีผลตั้งแต่ทารกยังเป็นตัวอ่อนเลยทีเดียว ส่งผลให้โครงสร้างและการทำงานของสมองของผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างตั้งแต่ยังเด็ก โดยสามารถพบความแตกต่างได้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
แม้นักกีฬาสตรีข้ามเพศจะเข้ารับการบำบัดเพื่อลดปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแล้ว แต่ก็ยังมีปริมาณฮอร์โมนก็ยังสูงกว่าผู้หญิงอยู่ดี
งานวิจัยที่ศึกษาสตรีข้ามเพศจำนวน 98 ราย พบว่าหลังเข้ารับการบำบัด ทุกรายมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง แต่เกือบทุกรายยังมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงกว่าผู้หญิงทั่วไป
งานวิจัยพบว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทำให้ผู้ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่า, แขนขายาวกว่า, กระดูกเชิงกรานแคบกว่า, หายใจได้ดีกว่า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ผู้ชายแข็งแรงกว่าผู้หญิง ซึ่งการลดปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในภายหลัง ไม่ทำให้ข้อได้เปรียบเหล่านี้หมดไป
ส่วนการบำบัดด้วยการเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิงชนิดเอสโตรเจน สามารถช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพฤติกรรมของสตรีข้ามเพศได้อย่างมาก และช่วยให้โครงสร้างสมองมีความคล้ายกับผู้หญิงมากขึ้น แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาหลายปี และอาจไม่ช่วยให้โครงสร้างสมองเหมือนกับผู้หญิงได้อย่างสมบูรณ์
แม้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง แต่พบว่าไม่ช่วยให้ความหนาแน่นของเส้นใยกล้ามเนื้อหรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง
งานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านทางวารสารการแพทย์ British Journal of Sports Medicine เมื่อเดือนมกราคม 2021 เป็นการศึกษาความแข็งแรงของสตรีข้ามเพศในกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ด้วยการเปรียบเทียบระยะเวลาที่ใช้ในการวิ่งระยะทาง 1.5 ไมล์กับผู้หญิง เพื่อวัดความเร็วของการวิ่งระหว่างช่วงก่อนและหลังจากการบำบัดด้วยฮอร์โมน
พบว่าก่อนการบำบัดด้วยฮอร์โมน สตรีข้ามเพศวิ่งเร็วกว่าผู้หญิงประมาณ 21% แต่หลังจากเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเป็นเวลาถึง 2 ปี กลุ่มสตรีข้ามเพศก็ยังวิ่งเร็วกว่าผู้หญิงประมาณ 12%
ความต่างระหว่างชายและหญิง
กล้ามเนื้อ
งานวิจัยพบว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนส่งผลให้ผู้ชายมีกล้ามเนื้อท่อนบนมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า และมีกล้ามเนื้อท่อนล่างมากกว่าผู้หญิง 30%
กระดูก
กระดูกที่ใหญ่กว่าของผู้ชายช่วยเพิ่มพื้นที่ให้มวลของกล้ามเนื้อมีปริมาณมากขึ้น เช่นคนที่ไหล่กว้างจะมีความแข็งแรงบริเวณกล้ามเนื้อท่อนบนมากกว่า
กระดูกที่ใหญ่กว่าเพิ่มพลังการหมุนตัวที่ดีกว่า ช่วยให้การขว้างและการกระโดดมีพลังมากกว่า
กระดูกที่ใหญ่กว่ายังช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บได้ดีกว่า และทำให้ผู้ชายมีความอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่าผู้หญิง
กระดูกเชิงกราน
ผู้หญิงมีกระดูกเชิงกรานที่กว้างกว่าผู้ชายเพื่อช่วยในการคลอดลูก โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีกระดูกเชิงกรานกว้าง 5.12 นิ้ว ผู้ชายมีกระดูกเชิงกรานกว้าง 4.33 นิ้ว
งานวิจัยปี 2003 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์วิน พบว่ากระดูกเชิงกรานที่แคบกว่ามีผลต่อการทำมุมของหัวเข่าและกล้ามเนื้อต้นขา เพื่อใช้สำหรับการออกแรงระหว่างการยืดหัวเข่า ส่งผลให้ผู้ชายและสตรีข้ามเพศมีแรงมากกว่าในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตะฟุตบอล, ปั่นจักรยาน หรือการกระโดดจากท่านั่งยอง ๆ
งานวิจัยพบว่า การบำบัดด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ช่วยให้โครงสร้างกระดูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
หัวใจ ปอด และการหายใจ
ผู้หญิงมีปอดที่เล็กกว่าผู้ชายประมาณ 10-12% และยังมีกะบังลมที่สั้นกว่า ส่งผลให้การหายใจเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายทำได้น้อยกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงยังมีหัวใจที่เล็กกว่าผู้ชายประมาณ 85% โดยมีหัวใจห้องล่างซ้ายที่สูบฉีดเลือดไปอวัยวะต่าง ๆ เล็กกว่า และมีอัตราการสูบฉีดหัวใจที่เบากว่าผู้ชายถึง 1 ใน 3
นอกจากนี้ ผู้ชายยังมีปริมาณฮีโมโกลบินที่จำเป็นต่อการลำเลียงออกซิเจนมากกว่าผู้หญิงประมาณ 12% โดยเริ่มเห็นได้ชัดตั้งแต่เริ่มโตเป็นหนุ่ม
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ผู้ชายมีความสามารถในการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจากปริมาณออกซิเจนได้ดีกว่าผู้หญิง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซา เปาโลในประเทศบราซิล ทำการศึกษาสตรีข้ามเพศสุขภาพแข็งแรงจำนวน 15 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่ 34 ปี เริ่มเข้ารับการแปลงเพศตอนอายุเฉลี่ยที่ 17 ปี และมีระยะเวลาเฉลี่ยในการใช้ฮอร์โมนบำบัดมานาน 14.4 ปี
ทีมวิจัยได้สำรวจความแข็งแรงของกลุ่มสตรีข้ามเพศกับผู้ชายและผู้หญิง ด้วยการใช้เครื่องวัดแรงบีบมือและการวิ่งบนสายพาน
ทีมวิจัยพบว่า แม้กลุ่มสตรีข้ามเพศจะมีปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเท่ากับผู้หญิง แต่พบว่ามีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง 40% มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมากกว่า 19% และมีการทำงานของหัวใจและปอดดีกว่า 20%
สมอง
ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังช่วยให้ผู้ชายเคลื่อนไหวได้ดีกว่าผู้หญิง
ผลการสแกน MRI พบความเชื่อมโยงระหว่างสมองของผู้ชายและความสามารถด้านการการเคลื่อนไหว (Motor) และการรับรู้เชิงพื้นที่ (Visual-Spatial Awareness) ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการแข่งขันกีฬา
การโต้แย้งด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน
BBC Sport ได้เชิญบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่มีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องการแข่งขันกีฬาระหว่างสตรีข้ามเพศและผู้หญิง ให้มาแสดงความเห็นในรายการ The Sports Desk เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2022 โดยให้แสดงความเห็นในประเด็นเดียวกัน ผู้ร่วมรายการได้แก่ โจแอนนา ฮาร์เปอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬาและสตรีข้ามเพศ จากมหาวิทยาลัยลัฟโบโร ประเทศอังกฤษ และ รอส ทักเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬา ที่มองว่าความแตกต่างทางกายของเด็กผู้ชายช่วงเริ่มเป็นหนุ่ม ทำให้ผู้ชายได้เปรียบผู้หญิงอย่างมากในเชิงกีฬา
1.สตรีข้ามเพศมีข้อได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมเมื่อแข่งขันกีฬากับผู้หญิงหรือไม่?
โจแอนนา ฮาร์เปอร์ : การมีข้อได้เปรียบ ไม่ใช่การเอาเปรียบที่ไม่เป็นธรรมเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาถนัดซ้ายได้เปรียบนักกีฬาถนัดขวาในหลายชนิดกีฬา เห็นได้ชัดในกีฬาฟันดาบ ขณะที่ประชากรถนัดซ้ายมีเพียง 10% แต่มีนักกีฬาฟันดาบที่เป็นคนถนัดซ้ายถึง 40% แต่กระนั้นนักกีฬาฟันดาบที่ถนัดมือคนละข้าง ก็ยังสามารถแข่งขันร่วมกันได้ แม้จะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ก็ตาม
รอส ทักเกอร์ : เมื่อเด็กผู้ชายเริ่มเข้าสู่อายุ 13-14 ปี อิทธิพลของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะเริ่มส่งผลต่อร่างกายของพวกเขาอย่างมาก ทั้งมวลกล้ามเนื้อ ความหนาแน่นของกระดูก ขนาดของปอดและหัวใจ ปริมาณของฮีโมโกลบิน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการแข่งขันกีฬา การลดปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในภายหลังไม่ทำให้ข้อได้เปรียบเหล่านี้หมดไป
แม้การลดปริมาณฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะทำให้สตรีข้ามเพศเกิดข้อเสียเปรียบบางอย่าง เนื่องจากยังคงมีโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่กว่าผู้หญิง แต่การมีปริมาณกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้การออกกำลังมีประสิทธิภาพลดลง แต่ข้อได้เปรียบโดยรวมยังถือว่ามีมากกว่าผู้หญิง
2.สตรีข้ามเพศควรถูกแบนจากกีฬาผู้หญิงหรือไม่?
รอส ทักเกอร์ : เหตุผลที่มีการแยกกีฬาเป็นประเภทชายและหญิง ก็เพื่อปกป้องนักกีฬาหญิงจากการเสียเปรียบเพราะความแตกต่างของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
หากไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่า ความได้เปรียบดังกล่าวไม่มีเหลืออยู่ในนักกีฬาสตรีข้ามเพศ การปกป้องสิทธินักกีฬาหญิงจึงเป็นมาตรการที่เหมาะสมกว่า ซึ่งเขาเชื่อว่าหลักฐานจากงานวิจัยในปัจจุบัน เพียงพอที่จะยืนยันได้ถึงความได้เปรียบของนักกีฬาสตรีข้ามเพศ และคิดว่าไม่ควรให้สตรีข้ามเพศแข่งขันกับนักกีฬาหญิงในตอนนี้
โจแอนนา ฮาร์เปอร์ : การวิจัยเกี่ยวกับสตรีข้ามเพศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น กว่าจะได้บทสรุปที่ชัดเจนอาจต้องรอเวลาอีกอย่างน้อย 20 ปี ในระหว่างนี้เธอเห็นว่าควรจะอนุญาตให้นักกีฬาสตรีข้ามเพศแข่งขันกีฬากับผู้หญิงได้ จนกว่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรมจริง ๆ
3.ในอนาคตสตรีข้ามเพศจะครองความยิ่งใหญ่ในวงการกีฬาหญิงเลยหรือไหม?
โจแอนนา ฮาร์เปอร์ : เหตุการณ์เช่นนั้นไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะนักกีฬาสตรีข้ามเพศมีน้อยมาก ในสหรัฐอเมริกามีนักกีฬาหญิงระดับมหาวิทยาลัยปีละกว่า 2 แสนคน แต่มีนักกีฬาสตรีข้ามเพศระดับมหาวิทยาลัยเพียงปีละ 1-2 พันคน คิดเป็น 0.5-1% เท่านั้น และยังมีไม่กี่คนที่ลงแข่งขัน
รอส ทักเกอร์ : จำนวนนักกีฬาไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ความเหมาะสมของหลักการ ทุกวันนี้มีนักกีฬาสตรีข้ามเพศคว้าชัยชนะในกีฬาของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2028 จำนวนดังกล่าวอาจจะมีเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบราย หากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข
4.ควรแยกการแข่งขันกีฬาสำหรับคนข้ามเพศเลยดีไหม?
โจแอนนา ฮาร์เปอร์ : สัดส่วนของคนข้ามเพศปัจจุบันมีเพียงแค่ 1% ของประชากรโลก การสร้างกีฬาที่มีแต่คนข้ามเพศแข่งขันโดยเฉพาะจึงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะกีฬาประเภททีม
รอส ทักเกอร์ : เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ในอนาคต แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาหลายอย่าง เพราะการเป็นคนข้ามเพศยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายบางประเทศ การแบ่งกีฬาสำหรับคนข้ามเพศอาจเกิดขึ้นในอนาคต หากทัศนคติต่อคนข้ามเพศในสังคมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.newsweek.com/emma-weyant-transgender-swimmer-lia-thomas-ncaa-1689362
https://www.outkick.com/caitlyn-jenner-transgender-racing-high-school-sports-state-championship/
https://youtu.be/sEgw_yRGV_k
https://apnews.com/article/congress-transgender-women-sports-ban-athletes-1c58c20cac2b191e323e4376d7949a2d
https://www.theguardian.com/sport/2023/mar/23/world-athletics-council-excludes-transgender-women-from-female-events
https://resources.fina.org/fina/document/2022/06/19/525de003-51f4-47d3-8d5a-716dac5f77c7/FINA-INCLUSION-POLICY-AND-APPENDICES-FINAL-.pdf
https://assets.ctfassets.net/761l7gh5x5an/5Qwu5ycbagkT3ApUSZg9N9/524bb4660a48772adfda590c8a2c415c/Chapter_V_-_Trangender_athletes_ENG_29072022.pdf
https://www.world.rugby/the-game/player-welfare/guidelines/transgender
https://www.science.org/content/article/world-athletics-banned-transgender-women-competing-does-science-support-rule
https://bjsm.bmj.com/content/55/15/865
https://www.dailymail.co.uk/health/article-12111455/The-trans-advantage-womens-sports-explained.html
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9331831/
https://bjsm.bmj.com/content/55/11/577
https://www.bbc.com/sport/61346517
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter