กรุงเทพฯ 7 มิ.ย.- 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ปี 2566 ไทยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 158.86 ล้านลิตร/วัน โตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 คาดทั้งปีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะโตกว่าละ 7.4 ชี้เป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างเห็นได้ชัด
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 4 เดือน(มกราคม-เมษายน) เฉลี่ยอยู่ที่ 158.86 ล้านลิตร/วัน โดยกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่มี่ 31.86 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 / การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 74.63 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงร้อยละ 3.4 จากเดิมใช้อยู่ที่ 77.2 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากเดือนเมษายน 2565 มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วเนื่องจากการคลายความกังวลของประชาชน จากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ประกอบกับในช่วงสงกรานต์ มีการการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.89 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 92.4 ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหลายประเทศ ส่วนการใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.18 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.3 การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 ในส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาณการนำเข้ารวม เฉลี่ยอยู่ที่ 1,098,731 บาร์เรล/วันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 และการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ปริมาณส่งออกรวม อยู่ที่ 151,539 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 2.6 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 15,164 ล้านบาท/เดือน
ทั้งนี้ การคาดการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากนี้จนถึงสิ้นปี 2566 คาดว่า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.4 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการขนส่งและการใช้พลังงานปริมาณมากโดยคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ11.8 น้ำมันกลุ่มดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 น้ำมันเตาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ LPG ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7
โดยการคาดการณ์ของกรมสอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมคาดว่าการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย ปี 2566 ในภาพรวมจะกลับมาใกล้เคียงปี 2562 ยกเว้นน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เนื่องจากหลายประเทศยังคงมาตรการจำกัดการเดินทาง ประกอบกับสายการบินอยู่ระหว่างการฟื้นฟู
“ทิศทางราคาน้ำมันในประเทศ ก่อนประเทศซาอุดิอาราะบีย ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาเรลต่อวัน เราคาดการณ์ราคาน้ำมัมนดิบไว้ที่ 80-90 เหรียญต่อบาเรล แต่หลังการประกาศ ราคาน้ำมันก็น่าจะสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ แต่ก็จะสูงขึ้นไม่มาก”อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน .–สำนักข่าวไทย