สภาการศึกษา 13 มิ.ย.-เลขาฯสกศ. ชี้แจง ไม่ได้ยกย่องเด็กเก่งเเละทิ้งเด็กอ่อนไว้หลังห้อง หลังมีนักวิชาการออกมาตำหนิการศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำ
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทย ภายหลังการประชุมเรื่องการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ถึงกรณีที่มีนักวิชาการออกมาเเสดงความคิดเห็นเเละสื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ว่าการศึกษาไทยสนใจเเละยกย่องเเค่เด็กเก่ง เเละทิ้งเด็กอ่อนเเละคนจนไว้หลังห้อง นำเงินไปลงกับโรงเรียนที่เก่งเเละดี พบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กเก่งเเละไม่เก่ง เเละเด็กรวยเเละเด็กจน ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ได้ทิ้งเด็กไว้หลังห้อง การพัฒนาเด็กเก่งหรือผู้มีความสามารถสู่การเเข่งขันของประเทศ เป็นเพียงยุทธศาสตร์1 ใน 6 ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาไทยในเเผนการศึกษาชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เหลือเน้นพัฒนาเด็กรายบุคคล ให้เด็กทุกคนได้ดึงศักยภาพที่มีในตัวเองออกมาใช้ได้สูงสุด ช่วยเหลือเด็กยากจน รวมถึงพัฒนาครูเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการสอนเด็ก ที่ผ่านมากระทรวงฯ ช่วยลดภาระครู ในการประเมิน หรือการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อให้มีเวลาอยู่ในห้องเรียนมากขึ้น จัดการอบรมเเละเพิ่มชั่วโมงกิจกรรมของเด็ก เพื่อการค้นหาตัวเอง
ขณะที่การช่วยเหลือเด็กยากจน ก็อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายรองรับการปฏิรูปการศึกษาตั้งกองทุน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และกองทุนเพื่อเสริมสร้าง และพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูด้วย
ส่วนเรื่องที่ให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่ดีเท่านั้นนั้น เลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง โรงเรียนเก่งที่มีอยู่กว่า 3,000 โรงเรียน เราให้อิสระในการจัดการเข้าไปดูเเลน้อยมาก ส่วนโรงเรียนทั่วไปที่มีอยู่กว่า17,000 แห่ง ดูเเลใกล้ชิด พัฒนาเด็กทุกคนให้เก่งตามความถนัด ผ่านโครงการโรงเรียนไอซียูหรืออื่นๆ ให้ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ช่วยกันดูเเลเด็ก .-สำนักข่าวไทย