สภาการศึกษา 13 มิ.ย.- สกศ.จัดเสวนาพัฒนาเด็กที่มีความสามารถ นำเเนวคิดดึงศักยภาพ ส่งเสริมเฉพาะด้าน จัดการห้องเรียน มีโค้ชชิ่งประกบเด็กรายบุคคล พร้อมนำเสนอรมว.ศึกษาออกนโยบายหรือทำโครงการพิเศษ
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวภายหลังเป็นประธานจัดการประชุมสภาการศึกษาเสวนาเรื่อง การพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษสู่ศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเเนวทางในการพัฒนาเด็กที่มีความสามารถว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเเละถูกบรรจุในเเผนการศึกษาชาติต้องจัดการศึกษาเเละดูเเลเด็กที่มีความสามารถอย่างเป็นระบบเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเเละได้ช่วยพัฒนาประเทศอย่างถูกทิศทาง ซึ่งจากประสบการณ์ของตน การพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 4 รูปแบบ คือ เพิ่มพูนประสบการณ์ โดยเสริมหลักสูตรพิเศษ อย่างประเทศสิงคโปร์เเละเกาหลี ขยายหลักสูตร เพิ่มเวลาเรียนเฉพาะด้านมากขึ้น การลดเวลาเรียน ข้ามชั้นเรียนให้เด็กที่มีความสามารถเเละมีโค้ชชิ่งหรือผู้เเนะนำตลอดการเรียนรู้
ทั้งนี้ข้อเสนอเเนะเเละผลการประชุมที่เกิดขึ้นในเวทีนี้จะนำเสนอยังนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดนโยบายเเละโครงการพิเศษต่อไป
ด้านนายธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวว่า ทุกคนโดยเฉพาะครูจะต้องเปลี่ยนทัศนคติว่าเด็กเก่งคือเด็กที่มีคะแนนการสอบทางด้านวิชาการดี ทุกคนต้องทำความเข้าใจว่าเด็กเกิดมาไม่เหมือนกัน มีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน และความสามารถทุกด้าน เช่น ด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ ศิลปะ กีฬา มีความสำคัญและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น สังคมต้องตระหนักถึงการส่งเสริมเฉพาะด้านว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะโรงเรียนที่ต้องมีบทบาทในการส่งเสริมให้นักเรียนรู้จัก และค้นพบความถนัดเฉพาะด้านของตนเอง และโรงเรียนมีหน้าที่ผลักดันให้เด็กได้ใช้ความสามารถนั้นได้เต็มศักยภาพ
ขณะที่นางสาวกานจุลี ปัญญาอินทร์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สกศ.กล่าวว่า ตนได้มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานศูนย์การศึกษาซิรีอุส ของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งเปรียบเหมือนโรงเรียนฝึกเด็กที่มีความสามารถของรัสเซีย โดยทุกๆเดือนโรงเรียนจะรับนักเรียนทั่วประเทศที่มีความสามารถใน3 ด้านคือ วิทยาศาสตร์ ดนตรีกีฬาเเละศิลปะ เดือนละ 600 คน ซึ่งจะมีผู้ดูเเลหรือโค้ชชิ่ง 200 คน อาทิ อาจารย์รางวัลโนเบล โค้ชนักกีฬาทีมชาติ เพื่อเน้นเพิ่มพูนศักยภาพด้านวิชาการ ฝึกอบรมความรู้ขั้นสูงในสาขาของตน ทำโปรเจกต์เเละงานวิจัยเเละพัฒนาบุคลิกภาพของเด็ก ซึ่งเเนวคิดสำคัญของศูนย์เเห่งนี้คือนำเด็กที่เก่งในเเต่ละด้านมาอยู่เเละเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการเเลกเปลี่ยนข้ามสาขาวิชา เกิดเป็นเครือข่ายของผู้มีความสามารถพิเศษ ทำให้มีการคิดนอกกรอบเเละเเปลกใหม่มากขึ้น เเต่ประเทศไทยค่ายหรือกิจกรรมต่างๆจะจัดเเยกกัน อาจทำให้เด็กที่มีความสามารถยากจะได้มาเจอกัน.-สำนักข่าวไทย