26 พฤษภาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ผลสำรวจของรัฐวิสคอนซินพบว่า มีผู้คนถึง 1 ใน 5 ที่ยุติความสัมพันธ์กับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว จากการโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประเด็นทางการเมือง บ่อยครั้งที่บทสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง พัฒนาเป็นการโต้แย้งระหว่างคนในครอบครัว และนำไปสู่ความบาดหมางที่ยากจะเยียวยา
หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ได้หารือผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแนะนำ 9 เทคนิคจำเป็นสำหรับการโน้มน้าวเหยื่อข่าวปลอมทางการเมือง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว
1.เริ่มอย่างเป็นมิตร ไม่ใช่จ้องหาคนผิด
ไมค์ วากเนอร์ ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ระบุว่า คนที่แชร์ข้อมูลเท็จ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คนเหล่านี้ไม่เชื่อทั้งสื่อกระแสหลักหรือข้อมูลจากพรรคการเมือง การจะชนะใจพวกเขา ควรเริ่มจากการพูดคุยทำความเข้าใจ ดีกว่าลงรายละเอียดเรื่องข้อเท็จจริง เพราะถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนใจคนเหล่านี้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งคุยให้เสียเวลาตั้งแต่แรก
2.อย่าใช้อารมณ์
เลทริเซีย โบด ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้ศึกษาการรับมือข้อมูลเท็จ แนะนำให้ผู้อธิบายใช้วิธีละมุนละม่อม เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ข่าวปลอมข้อมูลเท็จถูกสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นความรู้สึกของผู้ฟังอยู่แล้ว
เราต้องทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงเจตนาที่ดีของข้อมูลที่นำเสนอ และระลึกเสมอว่า เราทุกคนต่างตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมข้อมูลเท็จได้ทุกเมื่อ
3.อธิบายด้วยข้อความที่สั้นกระชับ
ในสถานการณ์ที่ต้องชี้แจงข้อมูลกับสมาชิกในครอบครัวทางห้องแชทออนไลน์ เลทริเซีย โบด แนะนำให้เขียนข้อความเท่าที่จำเป็น แล้วแนบลิงก์ที่น่าเชื่อถือเป็นตัวอธิบาย
4.”ไปฟังมาจากไหน”
จอห์น ซิลวา ผู้อำนวยการศูนย์ News Literacy Project ชี้แจงว่า แทนที่จะบอกคนฟังว่าเป็นฝ่ายผิด ควรถามว่าเค้าไปฟังเรื่องราวเหล่านั้นมาจากที่ไหน แล้วทำการแบ่งปันแหล่งข้อมูลที่เราได้รับ เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้องของแหล่งข้อมูล
5.ชี้แจงผลประโยชน์เบื้องหลังข่าวปลอม
ไมค์ วากเนอร์ อธิบายว่า ควรระบุให้ผู้ฟังเข้าใจว่า ใครคือผู้ได้ประโยชน์ หากความเข้าใจผิดแบบเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง
ให้เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เผยแพร่จากสื่อกระแสหลัก เช่นสำนักข่าว ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน และมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
ต่างจากสื่อที่เผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งผู้เผยแพร่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลที่นำเสนอเป็นเรื่องไม่จริง
ดีน ฟรีลอน ศาสตราจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา อธิบายว่า ประชาชนควรรู้ว่าข้อมูลเท็จคือเครื่องมือสร้างกำไร ทั้งแก่ผู้ที่แชร์ข้อมูล และสื่อที่ใช้แชร์ข้อมูล ข้อมูลเท็จเป็นประโยชน์สำหรับนักเก็งกำไร แต่ส่งผลเสียต่อสังคมและประชาธิปไตย
6.อย่าหักล้างข้อมูลบนโต๊ะอาหาร
ผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า สถานที่รวมตัวของสมาชิกทั้งครอบครัว ไม่ใช่ที่ ๆ ควรมีการโต้แย้งเรื่องข้อเท็จจริง
จอห์น ซิลวา ผู้อำนวยการศูนย์ News Literacy Project แนะนำให้มีการนัดคุยกันตัวต่อตัวที่ร้านกาแฟ จะดียิ่งกว่าถ้ารอให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เปิดประเด็นด้วยตนเอง เพราะไม่มีใครอยากถูกตราหน้าว่าเป็นคนผิด การจะทำให้คนเหล่านั้นรู้ตัวว่ากำลังถูกใช้ประโยชน์จากข้อมูลเท็จจำเป็นต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
7.ยืนยันความถูกต้องตั้งแต่ในห้องแชทของครอบครัว
เลทริเซีย โบด ศาสตราจารย์ ผู้ศึกษาการรับมือข้อมูลเท็จ ระบุว่าคนที่โน้มน้าวใจได้ยากที่สุด คือคนที่นำข้อมูลเท็จมาเผยแพร่เป็นคนแรกในครอบครัว วิธีแก้คือทำให้สมาชิกคนอื่น ๆ ในห้องแชทได้เห็นข้อมูลที่ได้รับการหักล้างข้อเท็จจริง เพราะมีหลักฐานพบว่า คนจะเชื่อข้อความเท็จลดลง หากเห็นว่าข้อมูลถูกนำเสนอโดยบุคคลที่มีประวัติเผยแพร่ข้อความที่ถูกหักล้างข้อเท็จจริงมาก่อน
เพื่อป้องกันการถูกมองว่ามุ่งแต่จับผิดทางออนไลน์ เลทริเซีย โบด แนะนำแนวทาง hybrid approach ด้วยการหักล้างข้อมูลทั้งออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป เพื่อลดความตึงเครียดจากการหักล้างข้อมูลทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว
8.พร้อมที่จะถอย
จอห์น ซิลวา ผู้อำนวยการศูนย์ News Literacy Project แนะนำว่า หากการสนทนาเริ่มกลายเป็นโต้แย้ง มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความเข้าใจเมื่อผู้สนทนาไม่พร้อมที่จะเปิดใจ
ไม่จำเป็นที่การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องจะสำเร็จในการสนทนาเพียงครั้งเดียว เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถโน้มน้าวใจได้ง่าย ๆ ต่อให้คำอธิบายสมบูรณ์แบบแค่ไหน ก็ไม่รับประกันว่าจะสามารถโน้มน้าวใจได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร
9.การเปลี่ยนใจต้องใช้เวลา
ดีน ฟรีลอน ศาสตราจารย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา ย้ำว่า การเปลี่ยนใจคนสามารถทำได้ แต่อาจจะไม่เกิดขึ้นจากการสนทนาเพียงรอบเดียว ทั้งหมดคือเกมที่ต้องใช้การวางแผนระยะยาว สำคัญที่สุดคือทำให้คู่สนทนามองเห็นว่า เรามีความจริงใจในการหักล้างความเข้าใจผิดของเขาอย่างแท้จริง
เมเดอลีน จาลเบิร์ต นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้ศึกษาวิธีการตัดสินความถูกต้องของผู้รับสาร ชี้แจงว่า คนทุกคนล้วนมีจุดอ่อนต่อการหลงเชื่อความปลอมข้อมูลเท็จ เมื่อใครสักคนเริ่มเชื่อข้อมูลเท็จแล้ว การจะทำให้พวกเขาย้อนกลับไปยังจุดที่ไม่เคยเชื่อเรื่องเท็จเหล่านั้นเป็นเรื่องยากมาก มนุษย์แต่ละคนล้วนมีความเชื่อที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเป็นทุนเดิม และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนใจหันมามองความเป็นจริงได้ง่าย ๆ
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.washingtonpost.com/wellness/2022/10/05/debunk-political-misinformation-advice/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter