15 พฤษภาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความ : อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ในสหรัฐมีหน่วยงานที่เรียกว่าคณะกรรมการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Trade Commission หรือ FTC) ที่ตรวจสอบเนื้อหาในโฆษณาเชิงพาณิชย์ให้มีความถูกต้อง เพื่อป้องกันการโฆษณาเกินจริง หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแก่ผู้บริโภค
แต่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการด้านการสื่อสารของสหรัฐ (Federal Communications Commission หรือ FCC) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิล จานดาวเทียมในสหรัฐ กลับไม่สามารถยับยั้งนักการเมืองจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จระหว่างหาเสียงได้
เหตุผลก็เพราะการกระทำดังกล่าว อาจจะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ว่าด้วยเสรีภาพด้านการแสดงออกและเสรีภาพด้านการนับถือศาสนา โดยมองว่าเนื้อหาในโฆษณาช่วงหาเสียง คือการแสดงวิสัยทัศน์และความคิดเห็นของนักการเมืองเท่านั้น
สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในสหรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ FCC ทั้ง ABC NBC CBS ต่างไม่มีสิทธิระงับโฆษณาของนักการเมืองเหล่านั้น แม้จะรู้ว่าเนื้อหาในโฆษณาเต็มไปด้วยข้อมูลเท็จก็ตาม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโฆษณาหาเสียงของ เจ.บี สโตนเนอร์ ผู้ลงชิงตำแหน่ง ส.ว. รัฐจอร์เจีย พรรคเดโมแครต เมื่อปี 1972 เพราะโฆษณาของเขาเต็มไปด้วยเนื้อหาเหยียดเชื้อชาติทั้งต่อชาวแอฟริกันและชาวยิว แม้จะถูกประท้วงในวงกว้าง แต่ FCC กลับมองว่าการถอดโฆษณาจะเป็นการขัดขวางเสรีภาพด้านการแสดงออก (Free Speech) ตามนโยบาย Fairness Doctrine ที่ FCC สนับสนุนให้สถานีโทรทัศน์เปิดโอกาสให้บุคคลสาธารณะแสดงความเห็นประเด็นที่เป็นเรื่องโต้แย้ง เพื่อให้เกิดการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียม (ภายหลัง FCC ได้ยกเลิกนโยบาย Fairness Doctrine ในปี 1987)
หลายปีที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์เคเบิลหันมาออกนโยบายเพื่อพิจารณาการเผยแพร่โฆษณาของนักการเมืองด้วยตนเอง โดยก่อนหน้านี้ CNN เคยปฏิเสธการออกอากาศโฆษณาของ โดนัลด์ ทรัมป์ มาแล้วถึง 2 ชิ้น โดยอ้างว่าเนื้อหาโฆษณาเต็มไปด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นจริง
อย่างไรก็ดี โฆษณาทั้ง 2 ชิ้นที่ถูก CNN ปฏิเสธการเผยแพร่ กลับไปปรากฏทาง Facebook และสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเท็จระหว่างหาเสียงอย่างแพร่หลาย
Facebook ได้ระบุเอาไว้ในนโยบายการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า โพสต์และโฆษณาจากนักการเมือง จะไม่ถูกประเมินเนื้อหาโดยผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง
Facebook ให้เหตุผลว่า Facebook เคารพต่อกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย และความเชื่อที่ว่าคำพูดทางการเมืองถือเป็นคำพูดที่มีการกลั่นกรองมากที่สุด โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่สื่อมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและข้อมูลสู่สาธารณะ ที่สำคัญ การจำกัดคำพูดทางการเมืองอาจทำให้ผู้คนทราบข้อมูลจากคำพูดของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือกตั้งของตนน้อยลง และอาจทำให้นักการเมืองมีส่วนในการรับผิดชอบต่อคำพูดของตนน้อยลงอีกด้วย
นโยบายดังกล่าว ถูกท้าทายโดย อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ ส.ส.หญิง พรรคเดโมแครต ที่ตั้งคำถาม มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ระหว่างการไต่สวนโดยรัฐสภาสหรัฐเมื่อเดือนตุลาคมปี 2019 ว่า เธอสามารถผลิตโฆษณาที่อ้างว่านักการเมืองพรรครีพับลิกันให้การสนับสนุน Green New Deal โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เธอโปรโมทได้หรือไม่ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริงเลยก็ตาม
ภายหลังตัวแทนของ Facebook ยืนยันต่อสำนักข่าว CNN ว่า ส.ส.หญิงสามารถผลิตโฆษณาหาเสียงด้วยข้อมูลเท็จได้ เนื่องจากนโยบายตรวจสอบข้อเท็จจริงของ Facebook จะไม่ตรวจสอบเนื้อหาในโฆษณาเลือกตั้งของนักการเมือง
ต่อมา แอเดรียน แฮมป์ตัน ผู้ก่อตั้งกลุ่มการเมือง The Really Online Lefty League นำแรงบันดาลใจจาก ส.ส. หญิงพรรคเดโมแครต ผลิตโฆษณาหลอก ๆ ที่ระบุว่า ลินด์ซีย์ แกรม ส.ว. พรรครีพับลิกัน ให้การสนับสนุนโครงการ Green New Deal ซึ่งไม่เป็นความจริง
หลังจากโพสต์ได้เพียง 24 ชั่วโมง Facebook ก็ทำการลบโฆษณาตัวนี้ออก โดยให้ความเห็นว่าข้อมูลเท็จในโฆษณาผลิตโดยหน่วยงานทางการเมือง ไม่ได้มาจากตัวนักการเมืองโดยตรง
หลังจากนั้น แอเดรียน แฮมป์ตัน ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย จุดประสงค์เพื่อจะได้ผลิตโฆษณาหาเสียงด้วยข้อมูลเท็จต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อท้าทายนโยบายของ Facebook ที่ละเว้นนักการเมืองจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเขาเชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้ช่องว่างเหล่านี้ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
มีความพยายามผลักดันกฎหมายควบคุมโฆษณาของพรรคการเมืองทางสื่อสังคมออนไลน์ ในชื่อ Honest Ads Act หลังพบหลักฐานว่า ทางการรัสเซียเข้ามาซื้อโฆษณาทางการเมืองทาง Facebook ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2016
เนื้อหาของ Honest Ads Act กำหนดว่า สื่อสังคมออนไลน์ที่มียอดเข้าชมต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านครั้ง จะต้องเก็บรักษาข้อมูลสาธารณะที่เกี่ยวกับสื่อโฆษณาการเลือกตั้ง ที่จัดซื้อโดยกลุ่มหรือบุคคลที่ใช้เงินมากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อเผยแพร่โฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ๆ
แม้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ปัจจุบัน Honest Ads Act ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐแต่อย่างใด
องค์กรสื่อโฆษณาทางธุรกิจสหรัฐหรือ Interactive Advertising Bureau แสดงความเห็นคัดค้านกฎหมาย Honest Ads Act โดยมองว่าเป็นแนวทางที่เข้มงวดเกินไป ควรเปิดโอกาสให้สื่อแต่ละสำนักดำเนินการควบคุมเนื้อหาโฆษณากันเอง
ด้าน Facebook ประกาศให้การสนับสนุน Honest Ads Act แต่มีการสอบสวนที่พบว่า Facebook พยายามล็อบบี้เพื่อไม่ให้ Honest Ads Act มีผลบังคับใช้
นอกจากสร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนนแล้ว ข้อมูลเท็จจากการหาเสียงของนักการเมืองยังส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งอีกด้วย
เบน มอร์ริส โฆษกสำนักงานเลขาธิการรัฐโอเรกอน เปิดเผยว่าเมื่อปี 2022 มีการปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับการเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง ทั้งการเซนเซอร์ชื่อผู้สมัครบนป้ายหาเสียง อ้างว่ามีการกีดกันสมาชิกของพรรค ๆ หนึ่งไม่ให้เข้าไปยังสำนักงานเลือกตั้งท้องถิ่น และอ้างว่าเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งขอใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของผู้ใช้สิทธิอีกด้วย
ข่าวลือทั้ง 3 เรื่องถูกโพสต์ผ่านทาง Facebook แม้จะมีการยืนยันความถูกต้องโดยเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว แต่ทาง Facebook ก็เลือกที่จะไม่ลบข้อความดังกล่าว
เบน มอร์ริส วิจารณ์นโยบายการตรวจสอบโฆษณาจากนักการเมืองของ Facebook ว่า เน้นแต่การป้องกันปัญหาในระดับประเทศ ให้ความสำคัญแต่คำกล่าวอ้างที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นเท็จซึ่งเข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้น เป็นกระแสนิยม และก่อให้เกิดผลกระทบ ซึ่งข่าวลือทั้ง 3 เรื่องอาจจะไม่สร้างผลกระทบในระดับ “กระแสนิยม” ในความหมายของ Facebook แต่ก็ก่อความเสียหายต่อการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นอย่างมาก
บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องรับมือข่าวปลอมจากนักการเมืองด้วยตนเอง
อัยการของมาริโคปา เทศมณฑลที่ใหญ่ที่สุดของรัฐแอริโซนา ต้องเขียนข้อความเตือนไปยังผู้สมัครที่จงใจปล่อยข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งแอบเปลี่ยนผลโหวตอย่างลับ ๆ และชักชวนให้ผู้ไปใช้สิทธิขโมยปากกาจากคูหาเลือกตั้งเพื่อเป็นการป้องกัน
รวมถึงข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่เลือกตั้งมาริโคปาทำการลบข้อมูลเลือกตั้งจากระบบคอมพิวเตอร์ในปี 2021 และมีการระบุชื่อเจ้าหน้าที่เลือกตั้ง 2 รายว่ามีส่วนในการลบข้อมูล ทำให้ทั้งสองตกเป็นเป้าการข่มขู่ทางสื่อสังคมออนไลน์
แม้ปลัดเทศมณฑลมาริโคปาจะแจ้งไปยัง Twitter เพื่อขอให้ลบข้อความดังกล่าว แต่ Twitter กลับเห็นว่าข้อความเหล่านั้นไม่ละเมิดนโยบายด้านเนื้อหาของ Twitter แต่อย่างใด
เมื่อปีที่แล้ว มีการเสนอร่างกฎหมายไปยังรัฐสภาสหรัฐ เพื่ออนุมัติงบประมาณมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับใช้สนับสนุนการเลือกตั้งในระดับรัฐและระดับท้องถิ่น รวมถึงการต่อสู้กับข่าวปลอมข้อมูลเท็จของนักการเมืองที่เผยแพร่ในระหว่างการเลือกตั้งโดยเฉพาะ
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.npr.org/2022/03/17/1087047638/the-truth-in-political-advertising-youre-allowed-to-lie
https://www.brookings.edu/blog/fixgov/2019/12/20/regulating-fact-from-fiction-disinformation-in-political-advertising/
https://www.pbs.org/newshour/politics/debunking-false-claims-a-difficult-battle-for-election-offices-nationwide
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter