สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 4 มิ. ย.-คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เร่งดัน 3 ร่าง กม.สำคัญ เข้าสนช. “บวรศักดิ์” เล็งยกเลิกและเรียกคืนเงินค่าประกันประปา-ไฟฟ้า ตลอดจนเอาเงินค้างท่อธนาคารเข้ากองทุนสังคม
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย พร้อมด้วย นายคำนูญ สิทธิสมาน นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดาและนายวิชญะ เครืองาม โฆษกกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมายแถลงความคืบหน้าการดำเนินงานคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ว่า กรรมการได้ หยิบยกร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ขึ้นมาเร่งดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองติดตามทรัพย์สินของแผ่นดินคืนจากการทุจริต และร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว โดยเฉพาะสองร่างแรกที่จะต้องให้สอดคล้องกับการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการจะจัดเวทีสัมมนาให้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไปซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจสมัครเป็นอนุกรรมการ แล้ว170 คน จะแบ่งเป็น5คณะ เพื่อมาทำงานร่วมกัน โดย1ใน5คณะจะพิจารณายกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของประชาชนและเอกชนซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมการคณะกรรมการจากประสานข้อมูลไปยังศูนย์ดำรงธรรมสภาทนายความและหน่วยงานอื่นๆ และเปิดรับข้อมูลจากประชาชน เพื่อนำไปศึกษาและปรับแก้
นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวเรียกร้องให้ ประชาชนร่วมส่งความคิดเห็นและเสนอแนะกฎหมายที่ไม่จำเป็นและสร้างภาระเกินสมควร ตลอดจนการบริการของภาครัฐที่เป็นอุปสรรค มายังคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายโดยตรงเพื่อประกอบการพิจารณา
นายบวรศักดิ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้คณะกรรมการ กำลังศึกษากรณียกเลิกการจัดเก็บค่าประกันค่าประปาไฟฟ้าและแนวทางการเรียกเงินคืน จากสาธารณูปโภคดังกล่าวรวมถึงเงินค้างท่อในกรณีเงินฝากธนาคารที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เพราะเงินที่ฝากไว้นานๆ จะทำอย่างไรกับเงินพวกนี้ อย่างที่อังกฤษ จะประกาศให้ทราบว่าเป็นเงินของใครจำนวนเท่าไหร่ แล้วหากไม่มีใครมาแสดงตัว ก็ให้เอาเงินที่ค้างดังกล่าวเข้ากองทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และทำเพื่อสังคม
นายบวรศักดิ์ยังกล่าวถึง กระบวนการในการพิจารณากฎหมายที่ต้องดำเนินการฟังความเห็นจากประชาชนตามมาตรา 77 ว่า หากไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนด สามารถยกได้ในชั้นก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯคือหากผ่านสภาแล้วไม่มีการดำเนินการรับฟังความเห็นตามมาตรา77 ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย.-สำนักข่าวไทย