เบอร์ลิน 11 เม.ย.- เยอรมนีจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เหลืออยู่ 3 โรงสุดท้ายในวันเสาร์นี้ เป็นการเดิมพันว่าเยอรมนีจะสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ได้หรือไม่ ในขณะที่เผชิญวิกฤตพลังงานเพราะสงครามในยูเครน
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เน็คคาร์เวสธาม (Neckarwestheim) ใกล้เมืองชตุตการ์ต ที่เปิดเดินเครื่องมาตั้งแต่ปี 2532 จะกลายเป็นอดีตไปพร้อมกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีซาร์ทู (Isar 2) ในรัฐบาวาเรีย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอ็มสลานด์ (Emsland) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ
เยอรมนีพิจารณาเรื่องทยอยยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ ตั้งแต่ปี 2545 แต่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เร่งให้ยกเลิกเร็วขึ้น หลังเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่นในปี 2554 เธอกล่าวในเวลานั้นว่า เหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงอย่างญี่ปุ่น ก็ยังไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงของพลังงานนิวเคลียร์ได้อย่างปลอดภัย การเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ในเยอรมนีเป็นไปอย่างแข็งขัน เนื่องจากมีกระแสวิตกว่า สงครามและภัยพิบัติอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงเช่นที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ปี 2529 แต่การที่รัสเซียทำสงครามในยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้กระแสเปลี่ยนไป เพราะรัสเซียงดส่งออกก๊าซราคาถูกให้แก่ยุโรป จนเยอรมนีเกิดวิกฤตพลังงาน และต้องเลื่อนการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เหลืออยู่ 3 โรง จากกำหนดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 รัฐบาลนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ตกลงขยายเวลาปิดไปจนถึงวันที่ 15 เมษายนที่จะถึงนี้
เยอรมนีเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 2512 แต่ได้ทยอยปิดเตาปฏิกรณ์รวมแล้ว 16 เตา นับตั้งแต่ปี 2546 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 โรงสุดท้าย ผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 6 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศในปี 2565 เปรียบเทียบกับปี 2540 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ทั้งหมดผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 30.8 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน เยอรมนีได้เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จากที่ไม่ถึงร้อยละ 25 เมื่อทศวรรษก่อน เป็นร้อยละ 46 ในปี 2565 และตั้งเป้าปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2581 โดยจะทยอยปิดระลอกแรกในปี 2573 ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตไฟฟ้าได้ 1 ใน 3 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ.-สำนักข่าวไทย