วิธีหลอก : แอบอ้างชื่อของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)
อุบาย : ใช้เพจและบัญชีไลน์ปลอม หลอกให้ส่งข้อมูลสำคัญ
ช่องทาง : Facebook, LINE, โทรศัพท์มือถือ
ตร.ไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงาน แอบอ้างเป็นจนท. ช่วยเหลือประชาชน ลวงให้เพิ่มไอดีไลน์ ฉวยข้อมูลไปใช้ ด้าน ‘โฆษก’ แนะเพิ่ม “อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะมีเพจ หรือใช้สัญลักษณ์” พร้อมแนบวิธีการหลีกเลี่ยงการเข้าสู่เว็บฯ และเพจปลอมของหน่วยงาน
กรุงเทพฯ 3 เม.ย. 66 – พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือ ตำรวจไซเบอร์ ออกประชาสัมพันธ์เตือนภัย กรณีมิจฉาชีพปลอมเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงาน หลอกลวงให้เพิ่มไอดีไลน์และนำข้อมูลสำคัญของเหยื่อไป เพื่อใช้ก่อเหตุสร้างความเสียหาย และแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
สร้างเพจปลอม แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่
บช.สอท. ได้รับรายงานจาก กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่าตรวจสอบพบเพจปลอมชื่อ “สืบสวน สอบสวน การป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี” สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ภายในเพจพบว่า มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของหน่วยงาน อีกทั้งคัดลอกรูปภาพ ข้อความ การเเจ้งเตือนภัยออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงภารกิจจากเพจจริง นอกจากนี้ทางมิจฉาชีพยังใช้เทคนิคการโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงบุคคลเป้าหมายด้วย เป็นเหตุให้ประชาชนที่พบเห็นอาจหลงเชื่อ เข้าใจผิดว่าเป็นเพจจริงได้
วางอุบายให้เพิ่มไอดีไลน์ หวังฉวยข้อมูล
หากมีประชาชนหลงเชื่อและกำลังต้องการความช่วยเหลือ ทางเพจปลอมจะให้ติดต่อเข้าไปทาง Facebook Messenger ซึ่งมิจฉาชีพจะตอบกลับด้วยไอดีไลน์ พร้อมแนบลิงก์เพิ่มเพื่อนทันที โดยบัญชีไลน์ดังกล่าว มีชื่อว่า “ศูนย์ช่วยเหลือ” ส่วนโพรไฟล์และภาพปกจะแสดงเบอร์โทร 1567
มิจฉาชีพฝ่ายไลน์จะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หลอกลวงว่าสามารถช่วยเหลือและติดตามคดีที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อได้ จึงจำเป็นจะต้องขอข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน และหลักฐานทางคดีไปประกอบการสืบสวน จากนั้นมิจฉาชีพจะนำข้อมูลข้างต้นไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทันที เช่น การแฮ็กบัญชีเพื่อหลอกยืมเงินผู้อื่น การรูดซื้อสินค้า การโอนเงินจากบัญชีธนาคาร การขายให้แก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือการแอบอ้างเพื่อทำสิ่งผิดกฎหมาย
โฆษก บช.สอท. แนะ “อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะมีเพจ หรือใช้สัญลักษณ์”
ด้านโฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีดังกล่าวว่า การใช้งานหรือเข้าถึงบริการบนสื่อสังคมออนไลน์ควรตรวจสอบให้ดี ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน ซึ่งหมายรวมถึงการยิงโฆษณา มีชื่อเพจ หรือเว็บไซต์ที่คาดว่าอาจเป็นของจริง โดยวิธีการหลีกเลี่ยงการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอม และเพจเฟซบุ๊กปลอมของหน่วยงาน มีดังนี้
- เพจเฟซบุ๊กที่ถูกต้องของตำรวจไซเบอร์ คือ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB หรือ @CybercopTH และเว็บไซต์ตำรวจไซเบอร์ https://www.ccib.go.th เท่านั้น โดยหากท่านต้องการที่จะเข้าสู่เพจ หรือเว็บไซต์ ขอให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง ป้องกันการเข้าสู่เพจ หรือเว็บไซต์ปลอม
- เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม
- เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีจำนวนผู้ติดตามที่ไม่น้อยจนเกินไป
- เพจปลอม หรือเลียนแบบ มักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
- หมายเลขสายด่วนตำรวจไซเบอร์ คือ 1441 และหมายเลข 081-866-3000 และไม่มีช่องทางไลน์ในการติดต่อ มีเพียงแชตบอต @police1441 ที่เอาไว้ปรึกษาคดีอาชญกรรมทางเทคโนโลยี คอยให้บริการตอบคำถามประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
- การพิมพ์ชื่อหน่วยงานเพื่อค้นหาเว็บไซต์ของหน่วยงานใด ๆ ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือสังเกต URL อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่มีการยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ
- ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ผ่านสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก โดยเด็ดขาด
- หากพบ หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพจ หรือเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ ให้ติดต่อไปยังหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง เพื่อแจ้งให้ทำการตรวจสอบทันที
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : สุวัชรียา จันทร์บัว
พิสูจน์อักษร : เบญจมา ส้มเช้า