ตามที่มีการแชร์คลิป พร้อมข้อความเตือน ระวังขนมเค้กที่ผลิตในอิสราเอลและส่งออกไปยังประเทศอาหรับ มียาเม็ดทำให้เป็นอัมพาต นั้น
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบพบว่า เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของตุรกี Teyit ได้ตรวจสอบ พบคลิปวิดีโอต้นฉบับเผยแพร่บน youtube ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2562 และคาดว่าวิดีโอดังกล่าวน่าจะถ่ายทำที่เคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรัก เนื่องจากตอนท้ายคลิปมีการใช้ภาษาโซรานี ซึ่งเป็นภาษาเคิร์ด และยี่ห้อไก่ “As Piliç” ที่อยู่ในตู้เย็น จำหน่ายอย่างแพร่หลายในภูมิภาคนั้น รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ขนมเค้กในวิดีโอมีร่องรอยของการถูกเจาะ
สำหรับคลิปวิดิโอที่แชร์กันนั้น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีความเป็นจริงมากเพียงใด หรือมีการหลอกลวงมากเพียงใด แต่หากมองในแง่โอกาสการจงใจสร้างวิดีโอเพื่อให้เกิดความตื่นตระหนก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำ อาจจะใช้วิธีเปิดห่อขนมอีกด้านหนึ่ง เพื่อกดเม็ดยาเข้าไปในขนม จากนั้นปิดห่อกลับให้คล้ายเดิมแล้ววางไว้ใต้ขนมห่ออื่น และเมื่อถ่ายทำ ก็จงใจหยิบห่อที่ได้ดัดแปลงนั้นมาฉีกดู
นอกจากนั้น หากมียาเม็ดในขนมเค้กที่มีลักษณะนุ่ม และวางขายเป็นอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางระดับประเทศ เป็นไปได้ยากที่จะมีคลิปวิดีโอเพียงคลิปเดียว หรือขนมห่อเดียวถูกค้นพบ
ขณะที่เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่าง snopes และ factly.in ก็ยืนยันในทางเดียวกันว่า ไม่จริงและไม่มีหลักฐานยืนยันว่า
ยาที่อยู่ในขนมนั้นทำให้เป็นอัมพาตได้ ในทางการแพทย์ ยาไม่สามารถทำให้เกิดโรคสมองพิการในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง
ด้านโฆษกบริษัทผู้ผลิตขนมเค้ก Luppo ได้ออกประกาศยืนยันว่า โรงงานมีกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัย ใช้เครื่องจักรทุกขั้นตอน ปราศจากการสัมผัสด้วยมือของมนุษย์ จนกว่าจะอยู่ในบรรจุภัณฑ์ และยังมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อน โดยวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 700 ไมครอน (0.7 มิลลิเมตร) จะไม่สามารถผ่านระบบนี้ไปได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมียาอยู่ในขนมเค้ก รวมถึงขนมชนิดนี้จำหน่ายเฉพาะอิรักเท่านั้น จึงไม่ตรงกับข้อความที่แชร์กันว่า ขนมเค้กนี้จะถูกส่งไปขายในประเทศอื่น ๆ
โฆษกยังกล่าวทิ้งท้ายว่า คลิปวิดีโอนี้สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหมิ่นประมาท และทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทางบริษัทฯ กำลังดำเนินการทางกฎหมายแก่ผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จ
หลายคลิปวิดีโอที่สร้างความตื่นตระหนก ใช้เทคนิคการถ่ายทำหรือการเขียนข้อความประกอบให้น่าตกใจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องหรือเป็นเรื่องจริง เช่น ที่ผ่านมา พบทั้งเรื่อง คลิปแคปซูลยามีตะปู และ ยาพาราผสมไวรัส
ดังนั้น คลิปวิดีโอและข้อความที่เตือนว่าระวังขนมเค้กยัดยาทำให้เป็นอัมพาตนั้น ไม่เป็นความจริงและไม่ควรแชร์ต่อ
17 พฤศจิกายน 2567
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
สำนักข่าวไทย อสมท
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
อ้างอิง
https://teyit.org/analiz/solen-cikolataya-ait-luppo-markali-keklerin-icinden-hap-ciktigi-iddiasi
https://www.snopes.com/fact-check/turkish-snack-bar-paralysis-tablet
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter