บราซิเลีย 21 มี.ค.- นักธรณีวิทยาชาวบราซิลพบหินก่อตัวขึ้นจากขยะพลาสติกที่สะสมอยู่ในมหาสมุทร บนเกาะแห่งหนึ่งที่แทบไม่มีใครไปถึงเพราะต้องนั่งเรือออกจากชายฝั่งบราซิลนาน 3-4 วัน
เฟอร์นันดา อเวลาร์ ซันโตส นักธรณีวิทยาชาวบราซิลพบหินเกิดจากพลาสติกบนเกาะตรินดาด (Trindade) เป็นครั้งแรกในปี 2562 ขณะไปศึกษาวิจัยนาน 2 เดือนใกล้แหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติที่รู้จักในชื่อ หาดเต่า (Turtle Beach) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เต่าตนุใกล้สูญพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เธอไปวิจัยเพื่อทำวิทยานิพนธ์เรื่องดินถล่ม การกัดเซาะ และความเสี่ยงทางธรณีวิทยาอื่น ๆ แต่กลับพบแผ่นหินโผล่พ้นน้ำขนาดใหญ่ มีสีเขียวอมน้ำเงินและดูแปลกประหลาด จึงนำตัวอย่างกลับไป เธอและคณะนักวิจัยพบว่า เป็นการก่อตัวทางธรณีวิทยาแบบใหม่ที่ผสมผสานวัสดุและกระบวนการที่โลกใช้สร้างชั้นหินมาเป็นเวลาหลายพันล้านปีเข้ากับส่วนประกอบใหม่ นั่นคือ ขยะพลาสติก
เธอและคณะนักวิจัยได้ข้อสรุปว่า มนุษย์กำลังทำตัวเป็นสาเหตุทางธรณีวิทยา ด้วยการมีอิทธิพลต่อกระบวนการที่เดิมคิดกันว่าเป็นฝีมือของธรรมชาติล้วน ๆ เช่น การก่อตัวของชั้นหิน หินเกิดจากพลาสติกที่พบนี้ตรงกับแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์เรื่อง “ยุคมนุษย์ครองโลก (Anthropocene)” หมายถึงยุคทางธรณีวิทยาที่มนุษย์มีอิทธิพลต่อกระบวนการทางธรรมชาติของโลก และเมื่อวิจัยเพิ่มเติมพบว่า เคยมีรายงานพบหินเกิดจากพลาสติกลักษณะเดียวกันแต่มีขนาดเล็กกว่าในหลายพื้นที่นับตั้งแต่ปี 2557 เช่น ฮาวาย อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น แต่เกาะตรินดาดของบราซิลถือเป็นดินแดนห่างไกลผู้คนมากที่สุดที่พบหินแบบนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากหินถูกกระแสน้ำกัดเซาะไปเรื่อย ๆ จะปล่อยไมโครพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อมและปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร.-สำนักข่าวไทย