พัทลุง 30 ม.ค.- 1 ปีมีครั้งเดียว นอนแช่น้ำว่าน 3 วัน 3 คืน พิธีกรรมไสยศาสตร์การแพทย์ และความเชื่อของชายชาตรี เรื่องอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า “พิธีกรรมแช่น้ำว่านสมุนไพร 108 ชนิด” สุดยอดวิชาวัดเขาอ้อ จ.พัทลุง หนึ่งเดียวในไทย
“พิธีบุญบูรพาจารย์สำนักเขาอ้อ 2566” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-29 มกราคมที่ผ่านมา ณ วัดเขาอ้อ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีพิธีกรรมหลากหลาย หนึ่งในพิธีที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษลูกผู้ชายชาตรีจากทั่วประเทศแห่สมัครจำนวนมาก แต่ทางวัดรับได้แค่ 12 คน คือ “พิธีกรรมแช่น้ำว่านสมุนไพร 108 ชนิด” ตำรับเขาอ้อ เป็นพิธีกรรมไสยศาสตร์การแพทย์ และความเชื่อของชายชายชาตรี เรื่องอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า โดยใช้เวลานอนแช่น้ำว่าน 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการสร้างความขลังให้ผู้ที่เข้าร่วมพิธี ซึ่งศาสตร์แห่งการนอนแช่น้ำว่าน 108 ชนิด ถือได้ว่าเป็นสุดยอดวิชาวัดเขาอ้อ โดยมีพระเจกิอาจารย์สายเขาอ้อ ร่วมทำพิธีปลุกเสก สร้างความกล้าแข็ง สร้างความขลัง และความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สำหรับพิธีกรรมดังกล่าวเป็นที่จัดขึ้น “1 ปีมีครั้งเดียว และแห่งเดียวในประเทศไทย”
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีพิธีหุงข้าวเหนียวดำและป้อนข้าวเหนียวดำ ตำรับเขาอ้อ เป็นการนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 108 ชนิด นำมาผสมแล้วต้มเอาน้ำยาเพื่อนำมาใช้หุงข้าวเหนียวดำ โดยจะประกอบพิธีในฉัตรทันต์บรรพต ซึ่งหม้อและไม้ฝืนทุกอันจะลงอักขระเลขยันต์กำกับ พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มปลุกเสกตั้งแต่จุดไฟ จนข้าวเหนียวในหม้อสุก จึงนำข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปประกอบพิธีอีกครั้ง จึงนำมาป้อนให้แก่ศิษย์ การกินข้าวเหนียวดำ เชื่อกันว่าหากผู้ใดได้กินถึง 3 ครั้ง จะทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นมหานิยม และเป็นยาแก้โรคปวดหลัง ปวดเอว และพิธีการสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา เป็นพิธีกรรมที่อยู่ในวัฒนธรรมความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ว่าจะสามารถส่งเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้น รวมไปถึงการต่ออายุ หรือแก้ไขสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นดี เสริมสง่าราศีให้ชีวิตมีความสุข และประสบความสำเร็จตลอดทั้งปีและตลอดไป
“วัดเขาอ้อ” เดิมเป็นสำนักทิศาปาโมกข์แบบเดียวกันกับในอินเดีย มีหลักฐานว่าก่อตั้งมาก่อนปี พ.ศ.800 ผู้ก่อตั้งเป็นพวกพราหมณาจารย์ผู้ทรงเวทย์ที่เดินทางมาจากอินเดีย เป็นยุคสมัยที่ศาสนาพราหมณ์เริ่มขยายฐานศรัทธาออกมานอกประเทศอินเดีย ก่อนที่ศาสนาพุทธจะตามมาในภายหลัง โดยเป็นที่บำเพ็ญพรตของพราหมณ์ผู้ทรงวิทยาคุณ ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เชื้อพระวงศ์ หรือวรรณะกษัตริย์ และลูกหลานผู้นำ นอกจากจะมีวิชาเกี่ยวกับการปกครองตามตำราธรรมศาสตร์แล้ว ยังมีเรื่องพิธีกรรม ฤกษ์ยาม การจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม ตลอดถึงไสยเวทย์และการแพทย์.-สำนักข่าวไทย