กรุงเทพฯ 28 ม.ค. – ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ กสทช. รับฟังความเห็น จัดทำแนวทางการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแสดงความเห็นของสื่อมวลชน ยอมรับเรตติ้งสำคัญต่อรายได้องค์กรพร้อมขอให้ความสำคัญสาระข่าวสารต่อประชาชน
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับผู้บริหารสำนักงาน กสทช. เปิดเวทีสัมมนา รับฟังความเห็นจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแนวทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของสื่อมวลชน โดยไม่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และอยู่ภายใต้กฎหมาย จรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อมวลชน ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม ไม่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น และเพื่อกำหนดเงื่อนไขให้กับองค์กรผู้รับใบอนุญาต โดยควรให้อิสระกับนักข่าว กองบรรณาธิการ ในการคัดกรองประเด็นข่าวเพื่อเสนอต่อสาธารณะชนรับทราบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณชนเป็นหลัก ทั้งด้านการศึกษา สังคม ท้องถิ่น วัฒนธรรม ไม่หวังเพียงเรื่องธุรกิจการค้าขององค์กรเท่านั้น โดยเจ้าของผู้ประกอบการสื่อ ต้องยึดปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 34 เพราะเป็นกฎหมายสูงสุด บัญญัติให้เสรีภาพแก่วิชาชีพสื่อมวลชน ในเรื่องเสรีภาพแสดงความเห็น หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตาม จะส่งผลต่อการพิจารณาใบอนุญาตครั้งต่อไป
เวทีสัมมนา ยังมุ่งเน้น การแสดงความเห็นกระทำมิได้ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อทรัพย์สินของประชาชน การทำงานศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม การละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยผู้ประกอบการรับใบอนุญาต ต้องจัดทำแนวทางปฏิบัติงาน คู่มือ ให้กับสื่อมวลชนในองค์กรถือปฏิบัติ ยอมรับว่า การดำเนินการของผู้ประกอบการสื่อมวลชนในปัจจุบัน ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพ และต้องการสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าว และมีปัจจัยแทรกซ้อน มีอิทธิพลต่อนักข่าวอย่างมาก ทั้งเรื่องเงินทุนบริหารองค์กร การแสวงหาเรตติ้ง การเมือง กระทบต่อการคัดกรองประเด็นข่าว จึงทำได้ลำบากขึ้น อีกทั้งการเข้าสู่ยุควิถีชีวิตออนไลน์ และโซเชียลมิเดียร์ จึงต้องเสนอข่าวอย่างรวดเร็ว อาจเปิดความผิดพลาดได้บ้าง
เวทีสัมมนา ยังต้องการให้วงการสื่อ มุ่งเน้นการเสนอข้อมูลสาระ ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม นอกเหนือจากการเสนอกในเรื่องที่ต้องการเรียกเรตติ้ง เพียงอย่างเดียว แนวทางปฏิบัติยังกำหนดถึง ผู้ประกอบการสื่อมวลชนที่เป็นนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สามารถใช้ความเป็นนายจ้างให้พนักงานลาออก หรือข่มขู่ ทำให้พนักงานหวาดกลัว หรือรู้สึกหวาดกลัวไม่ปลอดภัย การหารือในเวทีครั้งนี้ ต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน เพื่อเสนอให้มีการประกาศบังคับใช้ต่อไป.-สำนักข่าวไทย