เจิ้งโจว, 29 พ.ย. (ซินหัว) — เมื่อไม่นานนี้ คณะนักโบราณคดีได้ขุดค้นซากฐานของบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งมีอายุมากกว่า 5,000 ปี ในหมู่บ้านหย่างเสา มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน
หลี่ซื่อเหว่ย เจ้าหน้าที่สถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน ระบุว่าบ้านหลังนี้อาจเคยเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่มีกำแพงดินอัด และอาจมีพื้นที่มากกว่า 130 ตารางเมตร โดยสันนิษฐานว่ามาจากยุควัฒนธรรมหย่างเสาตอนปลาย
“นับเป็นการค้นพบซากบ้านขนาดใหญ่ครั้งแรก หลังจากมีการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสาในปี 1921 โดยการค้นพบนี้มอบข้อมูลใหม่สำหรับการศึกษาประเภท รูปทรง และเทคนิคการสร้างบ้านในยุคดังกล่าว” หลี่กล่าว
คณะนักโบราณคดียังขุดพบคูระบายน้ำ 4 แห่ง และโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงขวานหยกที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางการทหาร
หลี่ระบุว่าการค้นพบซากบ้านโบราณแสดงให้เห็นว่าชุมชนยุควัฒนธรรมหย่างเสามีประชากรจำนวนมาก การพัฒนาที่รุ่งเรือง และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการป้องกันที่สมบูรณ์ ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาความซับซ้อนและกระบวนการกำเนิดอารยธรรมในลุ่มแม่น้ำเหลืองช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์
อนึ่ง จีนขุดค้นแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสาในอำเภอเหมี่ยนฉือครั้งแรกในปี 1921 ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของโบราณคดีจีนสมัยใหม่ ขณะการขุดค้นทางโบราณคดี ครั้งที่ 4 ซึ่งเริ่มต้นวันที่ 22 ส.ค. 2020 ยังคงดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับวัฒนธรรมหย่างเสา มีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลือง ถือเป็นต้นธารสำคัญของอารยธรรมจีน และเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากเทคโนโลยีทำเครื่องปั้นดินเผาขั้นสูง-สำนักข่าวซินหัว
点击浏览中文新闻 (คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาจีน) http://www.news.cn/local/2022-11/28/c_1129168004.htm
คลิกเพื่ออ่านข่าวภาษาอังกฤษ https://english.news.cn/20221129/f1932355263d46308a31693ba7efc22f/c.html
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง https://www.xinhuathai.com/china/323352_20221129
ขอบคุณภาพจาก Xinhua