นิวยอร์ก 7 พ.ย.- สหประชาชาติคาดว่า โลกจะมีประชากรแตะ 8,000 ล้านคนในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องคนล้นโลกคือ การที่คนในประเทศร่ำรวยบริโภคทรัพยากรโลกมากเกินไป
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอฟพีเอ (UNFPA) ประเมินว่า ประชากรโลกจะแตะ 8,000 ล้านคนในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากปี 2493 หรือเมื่อ 72 ปีก่อนที่มีประมาณ 2,500 ล้านคน ประชากรโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1960 คือร้อยละ 2.1 ต่อปีระหว่างปี 2505-2507 จากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2563 และอาจจะลดลงเหลือร้อยละ 0.5 ภายในปี 2593 อย่างไรก็ดี การที่คนมีอายุขัยเพิ่มขึ้น ประกอบกับแม่และเด็กมีอัตราการเสียชีวิตลดลง ส่งผลให้ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 8,500 ล้านคนในปี 2573, 9,700 ล้านคนในปี 2593 และ 10,400 ล้านคนในคริสต์ทศวรรษ 2080
โจเอล โคเฮน ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ในสหรัฐชี้ว่า คำถามเรื่องโลกจะรองรับคนจำนวนมากได้หรือไม่ สะท้อนถึงความจริง 2 ด้านคือ การมีทรัพยากรจำกัด และการตัดสินใจเลือกของคน ผลการศึกษาของเครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก (Global Footprint Network) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พบว่า เราต้องมีโลกเพิ่มอีกเกือบ 1 ใบจึงจะสามารถรองรับความต้องการบริโภคของประชากรในปัจจุบันได้ การที่คนเลือกบริโภคมากเกินกว่าที่โลกจะสร้างทรัพยากรใหม่มาทดแทนได้ทัน คือต้นตอของปัญหา
ด้านเจนนิเฟอร์ สคูบบา ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ ศูนย์วิสสันระบุว่า พฤติกรรมของคนส่งผลต่อโลกมากกว่าจำนวนคน คนในประเทศร่ำรวยที่บริโภคมากที่สุดมักโทษคนในประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรเพิ่มขึ้น แต่ผลการศึกษาของเครือข่ายรอยเท้านิเวศโลกและ WWF พบว่า หากทุกคนใช้ชีวิตแบบคนในอินเดีย เราจะมีทรัพยากรเหลือจากที่โลกสร้างขึ้นมาทดแทนในแต่ละปี แต่หากใช้ชีวิตแบบคนในสหรัฐ เราจะต้องมีโลกถึง 5 ใบจึงจะมีทรัพยากรเพียงพอต่อการบริโภคในแต่ละปี.-สำนักข่าวไทย