กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – กรมชลประทานพร่องน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำจากฝนที่จะตกเพิ่มจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ด้วยการแบ่งน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและตะวันออกเหนือเขื่อนเพิ่ม แต่ยังคงปริมาณการระบายท้ายเขื่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้านท้าย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาติดตามสถานการณ์ของพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 28-29 ก.ย. ทิศทางการเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคกลาง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า พายุไต้ฝุ่น “โนรู” จะอ่อนกำลังลงระดับใด แต่อย่างไรก็ตามคาดว่า พายุจะมีอิทธิพลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย มีฝนตกหนักถึงหนักมากจนถึงวันที่ 30 ก.ย. ดังนั้นจึงต้องเตรียมรับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด
สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ในแนวพายุเคลื่อนผ่าน จำเป็นต้องพร่องน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรองรับฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม ด้วยการแบ่งน้ำเข้าสู่คลองต่างๆ ในระบบชลประทานฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเหนือเขื่อนเพิ่มฝั่งละ 20 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้สามารถคงการระบายน้ำท้ายเขื่อนให้ไม่เกิน 2,000 ลบ.ม/วินาที อีกทั้งให้พิจารณาปรับเพิ่มในปริมาณที่รับได้ตามศักยภาพของคลองโดยไม่ส่งผลกระทบต่อทุ่งทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งกำชับให้โครงการชลประทานต่างๆ บริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
สำหรับการระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะคงอัตราไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาทีไว้ให้นานที่สุดเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้าย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำซึ่งน้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนอยู่แล้ว
ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,968 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวานซึ่งอยู่ที่ 1,980 ลบ.ม./วินาที แต่คาดการณ์ว่า เมื่อพายุ “โนรู” ขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามวันที่ 27-28 ก.ย. นี้ จะมีอิทธิพลให้ฝนตกครอบคลุมบริเวณกว้าง ทำให้น้ำเหนือไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น หากน้ำเหนือไหลมาถึง กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ไม่เกิน 2,200 ลบ.ม./วินาทีในระยะต่อไป การปรับเพิ่มดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 30-50 เซนติเมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา อ.เสนา อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อ.อินทร์บุรี อ.เมืองสิงห์บุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และ อ.ไชโย จ.อ่างทอง
นายประพิศยังย้ำให้สำนักงานชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะในแนวพายุเคลื่อนผ่านตรวจสอบอาคารชลประทานให้มั่นคงแข็งแรง พร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรมือ เครื่องสูบน้ำ ไว้ประจำพื้นเสี่ยงให้สามารถช่วยเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ตลอดเวลา ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย